กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง จัดงานสัมมนาพิเศษ "เจาะขุมทรัพย์โอมานและบาห์เรน เปิดตลาดใหม่อัญมณีและเครื่องประดับไทย" เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการได้เข้าถึงสถานการณ์ปัจจุบัน แนวโน้ม อนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี และพฤติกรรมการบริโภค ตลอดจนการสร้างกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ แนะนำลู่ทางการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโอมาน-บาห์เรน ซึ่งเป็นประตูทางการค้าเชื่อมระหว่างอาหรับ แอฟริกา และทั่วโลก โดยได้รับเกียรติบรรยายพิเศษจาก นายอัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ นายกสมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชียและตะวันออกกลาง นายจารุดล ตุลยกิจจา อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และนายกฤษณะ บุญศรี ผู้บริหารบริษัท เกรย์ วูฟ จำกัด ผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทย มาร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงจากการทำธุรกิจในตลาดตะวันออกกลางให้แก่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ โดยได้รับเกียรติจากนายบุญทวี ศรีประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบัน เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันพุธที่ 28 มีนาคม 2561 ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ สีลม
ตลาดตะวันออกกลางนับได้ว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งชาวอาหรับมีความชื่นชอบสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยว่าเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพสูง ชิ้นงานมีความประณีตงดงาม เชื่อว่าจะสามารถครองใจลูกค้าในตลาดตะวันออกกลางได้ไม่ยาก นอกจากนี้ตะวันออกกลางยังเป็นภูมิภาคที่เชื่อมต่อระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา นับเป็นยุทธศาสตร์การค้าที่สำคัญ จึงเหมาะจะใช้เป็นประตูทางการค้าขยายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปสู่ตลาดประเทศต่าง ๆ ในทั้งสามทวีปดังกล่าวอีกด้วย
สำหรับประเทศที่น่าสนใจเข้าไปขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ เริ่มที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตลาดหลักเดิมของไทยซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และเป็นประเทศผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งไทยจะต้องเน้นทำตลาดในประเทศนี้อย่างต่อเนื่อง และไทยยังมีโอกาสใหม่ที่จะเจาะเข้าไปยังตลาดประเทศอื่นๆ ในอาหรับโดยตรง อย่างเช่น ตลาดโอมาน เป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนมีกำลังซื้อสูง และพ่อค้าขายส่งจากดูไบจำนวนมาก เข้าเปิดกิจการขายส่งในโอมาน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยก็สามารถขายสินค้าผ่านพ่อค้าขายส่งกลุ่มนี้ให้กระจายสินค้าในโอมาน รวมถึงใช้โอมานเป็นฐานเชื่อมการค้าเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางได้ ตลาดบาห์เรน เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเปิดกว้างทางวัฒนธรรมมากกว่าประเทศอาหรับอื่นๆ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และสินค้าไทยก็ได้รับการยอมรับ รวมถึงมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังเพื่อนบ้านได้สะดวก จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปยังตลาดบาห์เรนได้เพิ่มมากขึ้น และเหมาะจะเป็นประตูการค้าเข้าสู่ตลาดตะวันออกกลางได้เช่นเดียวกัน ตลาดกาตาร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันผู้นำเข้าชาวกาตาร์ ลดการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยหันมานำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงมากขึ้น จึงทำให้สินค้าจากไทยทั้งเครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับแพลทินัมเติบโตในตลาดกาตาร์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ เร่งบุกเจาะตลาดตะวันออกกลาง เพื่อขยายโอกาสการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย
ทั้งนี้ การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำไปยังตะวันออกกลางในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 108.89 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.98 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เพชรเจียระไน และเครื่องประดับเงิน