กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--Rippleeffect
ม. ขอนแก่น จับมือโครงการ Chevron Enjoy Science จัดตั้ง "TVET Food Hub" ปูทางสร้างช่างเทคนิคมืออาชีพ เป็นจิ๊กซอว์สำคัญเติมเต็ม "โมเดลยกระดับการศึกษาสะเต็มแบบครบวงจร" ผลักดันจังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารภาคอีสาน
รศ. ดร. ลำปาง แม่นมาตย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ลงนามจัดตั้ง "ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหาร" (TVET Food Hub) ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จจากความร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ในการยกระดับการพัฒนาบุคลากรสายวิชาชีพ โดยมี 15 สถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่เข้าร่วมเป็นเครือข่าย จากที่ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยฯ ได้ร่วมกับโครงการฯ ในการยกระดับสะเต็มศึกษาผ่านการจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษา (STEM Hub) และการพัฒนาการเรียนรู้สะเต็มศึกษานอกห้องเรียนผ่านโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย
การจัดตั้ง TVET Food Hub ที่มีความพร้อมทั้งด้านหลักสูตร การจัดฝึกอบรมและอุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อวิชาชีพให้กลุ่มครูช่างเทคนิคและนักเรียนอาชีวะ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาช่วยจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในพื้นที่ ตรงตามวัตถุประสงค์โครงการฯ ที่ต้องการยกระดับจังหวัดขอนแก่นให้เป็นแหล่งผลิตแรงงานคุณภาพของประเทศ และตรงกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการพัฒนาคน และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
"สิ่งที่เห็นจากที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมมือกับโครงการ Chevron Enjoy Science จนเข้าสู่ปีที่ 3 คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับบุคลากรในพื้นที่ และสานต่อให้เกิดเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคอีสานได้จริง สอดคล้องแนวนโยบาย "รัฐร่วมเอกชน" ภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รวมถึงแนวทางของรัฐบาลที่มุ่งใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศอีกด้วย" รศ. ดร. ลำปาง กล่าวเสริม
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า "ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมอาหาร" (TVET Food Hub) จะทำหน้าที่เป็นแกนหลักพัฒนาทักษะพื้นฐานสะเต็มให้กับนักเรียนอาชีวะและนักศึกษาในพื้นที่ขอนแก่น ปูพื้นฐานต่อยอดผลิตช่างเทคนิควิชาชีพ ขั้นสูง รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 1 ใน 10 อุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคต ที่ภาคอีสานถือเป็นฐานผลิตสำคัญ โดยเฉพาะขอนแก่นซึ่งมีความได้เปรียบทั้งวัตถุดิบทางการเกษตร และเทคนิคการ แปรรูปที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งเป็นที่ตั้งของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก
TVET Food Hub ถือเป็น TVET Hub แห่งที่ 5 ของโครงการฯ จากเป้าหมายทั้งหมด 6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีในการเติมเต็มและเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายไพโรจน์กล่าวว่า การจัดตั้ง TVET Food Hub ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญ ภายใต้ "โมเดลยกระดับการศึกษาสะเต็มแบบครบวงจร" ครอบคลุมทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษา ซึ่งโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นำมาใช้กับขอนแก่นเป็นพื้นที่แรกของประเทศ
"โมเดลดังกล่าวประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. การพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสายสามัญ โดยใช้ STEM Hub ที่ได้จัดตั้งขึ้นเป็นแกนกลาง 2. การพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านสะเต็มให้กับนักเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่ ซึ่งนำมาสู่การตั้ง TVET Food Hub แห่งนี้ และ 3. การสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้สะเต็มศึกษานอกห้องเรียน ด้วยโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบสะเต็มให้เยาวชน โดยทั้งหมดได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการโดยหวังว่าจะช่วยยกระดับการศึกษาสะเต็มแบบครบวงจร ผ่านการพัฒนาศักยภาพแรงงานในพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนก้าวเข้าสู่วิชาชีพด้านสะเต็ม และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป" นายไพโรจน์ กล่าว
ด้าน นายริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ด้วยเป็นที่ตั้งสถาบันอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และโรงเรียนทุกระดับชั้นจำนวนมาก โครงการฯ จึงเลือกขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง โดยมุ่งเน้นกลุ่มโรงเรียนมัธยมระดับกลางและโรงเรียนขยายโอกาส 123 แห่ง และสถาบันอาชีวศึกษา 15 แห่งในพื้นที่
โมเดลยกระดับการศึกษาสะเต็มแบบครบวงจร มีจุดเด่นด้านการนำองค์ความรู้สะเต็มมาเติมฐานต่อยอดให้ครูเกิดการพัฒนาทักษะการสอนรูปแบบใหม่ ด้วยกระบวนการกระตุ้นการจัดการเรียนการสอนแบบ Inquiry based learning หรือ "การเรียนรู้แบบสืบเสาะ" และ Problem based learning หรือ "การจัดการเรียนการสอนแบบการใช้ปัญหาเป็นฐาน" นอกจากนี้ ยังมุ่งฝึกอบรมบุคคลากรทางการศึกษาให้สามารถพัฒนากิจกรรมแบบ Hands-on หรือกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้ลงมือทำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา "กระบวนการคิด วิเคราะห์ ทำงานเป็นทีม เพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม" มากกว่า "การป้อนความรู้พื้นฐาน" แบบเดิมซึ่งไม่เพียงพอต่อการรับมือยุค 4.0 ที่ตลาดแรงงานมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านกระบวนการคิด วิเคราะห์ที่มากยิ่งขึ้น
"ปัจจุบัน โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 4 ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความสำเร็จรุดหน้าต่อเนื่องในทุกพื้นที่สำคัญของประเทศ โดยมีการอบรมพัฒนาศักยภาพให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาไปแล้วกว่า 5,000 คน และถ่ายทอดทักษะความรู้และสร้างแรงบันดาลใจการศึกษาด้านสะเต็ม แก่นักเรียนสายสามัญและอาชีวศึกษาแล้วกว่า 700,000 คน"
เกี่ยวกับโครงการ "Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต"
โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทยผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ