กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2561) เวลา 10.00 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และเรือตรีทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายวิศวกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมพิธีลงนามร่วมในสัญญาประกันทัณฑ์บน พิธีการศุลกากรส่งออกว่าด้วยการตรวจปล่อยสินค้าขาออกในเขตพื้นที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เพื่อบรรทุกลงเรือเฉพาะเขต (Specific Local Vessel) และรับบรรทุกที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ระหว่างกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากภาคเอกชน สมาคม และสมาพันธ์ต่างๆ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในงานดังกล่าว ณ ห้องภาสกรวงศ์ ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทย ประสานความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออกสินค้า และลดต้นทุนการส่งออกสินค้าของประเทศ โดยกรมศุลกากรออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 37/2561 เรื่อง พิธีการศุลกากรส่งออกว่าด้วยการตรวจปล่อยสินค้าขาออกในเขตพื้นที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เพื่อบรรทุกลงเรือเฉพาะเขต (Specific Local Vessel) และรับบรรทุกที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดทำโครงการท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Coastal Terminal Optimizing Your Business) เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ ลดปริมาณการจราจรทางบก และเพิ่มขีดความสามารถด้านการส่งออกของประเทศ
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า พิธีการศุลกากรส่งออกว่าด้วยการตรวจปล่อยสินค้าขาออกในเขตพื้นที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เพื่อบรรทุกลงเรือเฉพาะเขต (Specific Local Vessel) และรับบรรทุกที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการพิธีการศุลกากรส่งออก จากเดิมที่จะทำการตรวจปล่อย ณ ท่าท้ายสุดที่ระบุไว้ว่าจะส่งของออกนอกราชอาณาจักร เป็นการตรวจปล่อยให้เสร็จสิ้น ณ ท่าต้นทางที่มีพนักงานศุลกากรปฏิบัติหน้าที่ประจำและมีความพร้อมในการตรวจสอบสินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ โดยปฏิบัติพิธีการศุลกากรขาออก ตรวจปล่อยสินค้าให้เสร็จสิ้นที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ บรรทุกลงเรือเฉพาะเขตและรับบรรทุก ณ ท่าท้ายสุดที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งการขนส่งสินค้าด้วยเรือเฉพาะเขตมีความปลอดภัยสูง ขนส่งได้ปริมาณมาก ขนส่งสินค้าได้ตามเวลาที่กำหนด ลดต้นทุนการขนส่งแทนการใช้รถบรรทุก ลดปัญหาจราจรทางบก สำหรับการดำเนินพิธีการศุลกากรส่งออกในรูปแบบนี้ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในระบบโลจิสติกส์ได้ไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาทต่อปี และยังเป็นการลดปริมาณการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยลดปริมาณการใช้น้ำมันได้ไม่น้อยกว่า7.4 ล้านลิตรต่อปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 26.7 ล้านตันคาร์บอนต่อปี อีกทั้งสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้บริการ หากท่าเอกชนในกำกับดูแลภายใต้สำนักงานศุลกากรกรุงเทพเปิดดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มสูงขึ้น
ผลการดำเนินงานตามกระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing)
กรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 5/2561 เรื่อง กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง (Pre-Arrival Processing) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำของเข้าในการนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ โดยผู้นำของเข้าสามารถยื่นใบขนสินค้าขาเข้าล่วงหน้าและยื่นชำระค่าภาษีอากร (ถ้ามี) ล่วงหน้าได้ ก่อนที่เรือ/อากาศยาน จะเข้ามาถึง ณ ท่า/สนามบินที่เป็นด่านศุลกากร
ผู้นำของเข้าจะสามารถยื่นใบขนสินค้าขาเข้าล่วงหน้าได้ต่อเมื่อนายเรือ ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายเรือ/ผู้ควบคุมอากาศยาน หรือตัวแทนเรือ/อากาศยาน ยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือ/อากาศยาน ให้กับกรมศุลกากรแล้ว และผู้นำของเข้าต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าในเดือนเดียวกันกับเดือนที่สินค้าจะมาถึง โดยหลังจากเริ่มใช้ประกาศกรมฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2561 มีจำนวนใบขนสินค้าขาเข้าที่ส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์กรมศุลกากรแบบล่วงหน้า ดังนี้
จำนวนใบขนสินค้าขาเข้า/ฉบับ คิดเป็นร้อยละ
ใบขนสินค้าขาเข้าทั้งหมด 518,413 -
ใบขนสินค้าที่ส่งมาก่อนสินค้ามาถึง 51,030 9.84
ใบขนสินค้าที่ชำระภาษีก่อนสินค้ามาถึง 16,430 3.17
กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงนี้ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้นำของเข้าสามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำเข้าสินค้าที่มาต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลา ลดค่าใช้จ่าย ส่งเสริมระบบโลจิสติกส์และการค้าระหว่างประเทศ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสอดคล้องกับบทบัญญัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ภายใต้องค์การการค้าโลก
กรมศุลกากรยังคงมุ่งมั่นให้บริการศุลกากรเป็นเลิศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและเชื่อมโยงการค้าโลก เพื่อยกระดับการให้บริการที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงการค้าโลก ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ