กรุงเทพฯ--2 ส.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิก
บ่ายวานนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและนิทรรศการด้านนวัตกรรม InnovAsia 2005 ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน ศกนี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “การจัดประชุมและนิทรรศการด้านนวัตกรรม InnovAsia 2005 ในครั้งนี้ นับเป็นการจัดประชุมระดับนานาชาติด้านการบริหารจัดการนวัตกรรมเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลด้านนวัตกรรม และพัฒนาทักษะทางด้านการบริหารจัดการนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมราว 800-1,000 คน จากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้ความสนใจเข้าร่วมงานประชุมในครั้งนี้ โดยงาน InnovAsia 2005 ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก กระทรวงศึกษาธิการ บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด เครือซีเมนต์ไทย และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกกว่า 10 หน่วยงาน
นายกร กล่าวเสริมว่า “การจัดประชุมและนิทรรศการด้านนวัตกรรม InnovAsia 2005 ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยยกบทบาทและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านการจัดการนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในสายตาของประชาคมโลกอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดและการกระจายความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้าไปสู่กระบวนการผลิตของภาคเอกชนและสามารถพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติได้ต่อไป”
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า “ประเทศไทยนับว่าโชคดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมและนิทรรศการด้านนวัตกรรม InnovAsia 2005 เป็นครั้งแรกในปีนี้ การบริหารจัดการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นคำตอบที่สำคัญยิ่งของการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดียิ่งจากผู้สนใจทั่วไปในการเข้าร่วมฟังการประชุม ตลอดจนหน่วยงานทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติตอบรับเพื่อแสดงผลงานเทคโนโลยีนวัตกรรมล่าสุด ประกอบกับงานประชุมและการจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้นจึงนับเป็นงานสำคัญยิ่งที่ทุกคนไม่ควรพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาของการประชุมในเรื่อง นโยบายนวัตกรรมองค์กร (Corporate Innovation Policies) การส่งเสริมบทเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Promotion of Science and Technology Lessons from Thailand) อนาคตทางด้านนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Future of Innovation in Asia-Pacific) ฯลฯ เป็นต้น
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการในโครงการ World Community Grid ซึ่งเป็นโครงการที่ไอบีเอ็มร่วมกับหลายหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาและโครงการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมชั้นนำของโลก ประยุกต์เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้งมาสร้างคุณประโยชน์ ที่มุ่งบรรเทาและช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ทั้งทางด้านการแพทย์สาธารณสุข ในการค้นคว้าและวิจัยเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเอดส์ อัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคอื่นๆ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตมนุษยชาติ และการประยุกต์ใช้กริดคอมพิวติ้งเพื่อบรรเทาภัยพิบัติร้ายแรง และในวันนี้ ไอบีเอ็มมีความยินดีที่จะเปิดตัวโครงการเปิดสิทธิบัตรของไอบีเอ็มจำนวน 500 รายการ ให้แก่กลุ่มผู้ใช้ (User Group) บุคคลทั่วไป หรือองค์กรที่สนใจ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดและปฏิบัติตามแนวทางของ Open Source Initiative (OSI) บนเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของไอบีเอ็มที่ต้องการพัฒนาและสร้างความเติบโต ก้าวหน้าอย่างแข็งแกร่งให้แก่วงการโอเพ่นซอร์สในเมืองไทย โดยโครงการนี้ เป็นผลจากความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างไอบีเอ็ม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์แห่งชาติ (SIPA) สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (ATCI) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทย (ATSI) และอุทยานแห่งชาติซอฟท์แวร์ (Software Park) ทั้งนี้ ในงาน InnovAsia 2005 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าว”
ดร. นิลวรรณ เพชระบูรณิน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวว่า “นวัตกรรมของประเทศไทยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพต้องสอดคล้องกับนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและประชาชน เช่น การเป็นศูนย์กลางครัวโลก จะส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมทางด้านอาหาร นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ทำให้ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมพลังงานชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดและมีราคาถูก เป็นต้น"
นอกเหนือจากมุมมองนวัตกรรมในเชิงธุรกิจแล้ว ภายในงานประชุมยังจะมีการบรรยายในเรื่องการมุมมองการพัฒนา โดย ดร. ดาร์รีล เมเซอร์ ที่ปรึกษาระดับภูมิภาค สำนักเลขาธิการคณะกรรมการว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) กล่าวว่า “ยูเนสโกมุ่งมั่นนำประโยชน์ทางด้านนวัตกรรมไปสู่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุดที่อาศัยในทวีปเอเชีย และในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติในยุคมิลเลเนียม (Millennium Development Goals) โดยเราให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่ององก์ความรู้วิทยาศาสตร์ประยุกต์แนวใหม่ ตลอดจนถึงในเรื่องที่ประเทศที่เกี่ยวข้องต้องกลับมาคิดและสร้างสรรค์รูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้นวัตกรรมเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับชั้น รวมถึงระดับรากหญ้า "
“นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮิลล์ ผู้อำนวยการและผู้แทนยูเนสโก จากกรุงจาการ์ตา สำนักงานวิทยาศาสตร์ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศอินโดนีเซีย จะบรรยายเกี่ยวกับบทบาทของนวัตกรรมการในประเทศโลกที่ 3 ในกรณีศึกษา “การส่งเสริมการนำท้องถิ่นเข้าสู่ระดับสากล” (Promoting a New Global Localism) โดยยูเนสโกได้ทุ่มเทพัฒนานวัตกรรมและวิทยาศาสตร์สำหรับมวลมนุษยชาติเพื่อให้เป็นไปตามครรลองและมั่นใจว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างเหมาะสม” ดร. เมเซอร์ กล่าวเสริม
อนึ่ง สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานประชุมนิทรรศการด้านนวัตกรรม InnovAsia 2005 ครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้ที่ เอเชียคองเกรส อีเว้นส์ โทรศัพท์ 02 960 0141 หรือคลิกดูรายละเอียดที่เวปไซต์ www.nia.or.th/innovasia.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เกษมศรี แก้วธรรมชัย / ยุวดี ชมบุญ
บริษัท ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด
โทรศัพท์ 02 231 6158-9
โทรศัพท์มือถือ 01 611 4696 และ 09 669 5286
อีเมล์ kasemsri@thanaburin.co.th และ yuwadi@thaburin.co.th--จบ--