กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--โฟร์ พี แอดส์(96)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี สุขภาพดี สู่ผลงานเชิงนวัตกรรมระดับประเทศ เพื่อส่งเสริม 1,100 เครือข่าย 10,000 โรงเรียนทั่วประเทศ สร้างเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี โครงงานสุขภาพและนวัตกรรมที่ลดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี สุขภาพดี ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเพื่อพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยตลอดช่วงชีวิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคด้วยความร่วมมือ ของทุกภาคส่วน และให้คนไทยมีโอกาสร่วมคิด ร่วมนำ ร่วมทำและร่วมรับผิดชอบ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของกรมอนามัยในการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดี สุขภาพดีที่สนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของโรงเรียนในรูปแบบของเครือข่าย โดยใช้พลังของเด็ก ครู และชุมชนร่วมสร้างสรรค์และเกิดการเสริมพลังในการทำงานส่งเสริมสุขภาพของภาคีต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีสุขภาพดี โดยเน้นเรื่องสุขภาพช่องปาก เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทย ฟันดี และบูรณาการร่วมกับงานส่งเสริมสุขภาพ จนสามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเพชร รวมถึงเครือข่ายโรงเรียนสามารถร่วมกันพัฒนาเป็นต้นแบบเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทยฟันดีระดับยอดเยี่ยมและระดับดีมาก จำนวน 62 เครือข่าย 571 โรงเรียน และ 74 เครือข่าย 670 โรงเรียนตามลำดับ ส่งผลให้นักเรียนได้รับการดูแลทันตสุขภาพอย่างเป็นระบบและครบวงจร
"ทั้งนี้ 10 ปี ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้นำแนวคิดการพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนเด็กไทย ฟันดี เพื่อพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพของเด็กนักเรียนและบุคลากร โดยเริ่มทำงานร่วมกับโรงเรียน และชุมชน เน้นการทำงานเป็นทีม จนเกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง สามารถดูแลสุขภาพซึ่งกันและกันได้ ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษา ด้วยการนำนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" มาเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งกรมอนามัย โดยสำนักทันตสาธารณสุข สำนักส่งเสริมสุขภาพ สำนักโภชนาการ และกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ จึงได้ร่วมมือกันพัฒนากิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ โดยการบูรณาการเข้ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนตามปกติ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ และเรียนรู้อย่างมีความสุขด้วยการลงมือปฏิบัติจนนำไปสู่การเกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยปัจจุบันมีโรงเรียนเป็นเครือข่ายมากกว่า 1,100 เครือข่าย 10,000 โรงเรียน ทั่วประเทศ และก่อให้เกิดโครงงานสุขภาพและนวัตกรรมที่ลดปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่น้อยกว่า 26 โครงงาน เกิดเป็นโรงเรียนต้นแบบโภชนาการ รวมถึงโรงเรียนที่มีการปฏิบัติเป็นเลิศด้านการขับเคลื่อนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายในเด็กวัยเรียนในทุก 12 ศูนย์อนามัย และสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง ส่งผลให้นักเรียนได้รับการดูแลทันตสุขภาพอย่างเป็นระบบและ ครบวงจร" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว