กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--
ราชกิจจาฯประกาศแล้ว พ.ร.บ.ใหม่เน้นคุมธุรกิจเช่าซื้อ มีผลบังคับใช้ 1 ก.ค.นี้ ชัดเจนไม่เกี่ยวกับธุรกิจของ MTLS เหตุไม่ได้ทำเช่าซื้อ ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อล้วนๆ เป็นเหตุผลให้ต้องขอผู้ถือหุ้นเปลี่ยนชื่อเป็น"เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC" สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ส่วนผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ประเมินเติบโต 40%ตามเป้าหมาย ควบคู่การกดหนี้เอ็นพีแอลไว้ได้ในระดับต่ำ 1.2% ด้านบล.ฟิลลิป ชี้ราคาเป้าหมาย 54.50 บาทต่อหุ้น เชื่อมั่นจะรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ต่อไป และแผนรุกเพิ่มจำนวนสาขาจะช่วยลดต้นทุนและขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้น
นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MTLS เปิดเผยว่าขณะนี้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาออกพระราชบัญญัติคุมธุรกิจเช่าซื้อ หรือ ลิสซิ่ง ออกมาแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไปนั้น ซึ่งปรากฎว่า พ.ร.บ.ใหม่จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเช่าซื้อเท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อ MTLS เพราะบริษัทฯทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ไม่ได้ทำธุรกิจเช่าซื้อแต่อย่างใด เพียงแค่ชื่อบริษัทฯลงท้ายว่า ลิสซิ่งเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "เมืองไทย แคปปิตอล" หรือ MTC และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยบริษัทฯจะนำไปขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น ในวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ภายในวันที่ 20 เมษายน 2561
สำหรับภาพรวมการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 1/2561 คาดว่าจะการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ จะมีการเติบโตระดับ 40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้รายได้ หรือ NPL ให้อยู่ระดับต่ำที่ 1.2% รวมทั้งการเปิดสาขาใหม่ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยปัจจุบัน บริษัทฯได้เปิดสาขาเพิ่มแล้ว นับตั้งแต่ต้นปี สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 จำนวน 213 สาขา จากเป้าหมายที่จะเปิดสาขาจำนวน 600 สาขาภายในสิ้นปีนี้ จึงรวมเป็น จำนวนสาขาทั้งสิ้น 2,637 สาขา
บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า ฝ่ายวิจัยได้แนะนำซื้อหุ้น MTLS โดยประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 54.50 บาท เนื่องจากคาดว่า MTLS จะเป็นผู้นำทางด้านสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ต่อไป
ทั้งนี้ MTLS นั้นก่อตั้งในปี 2535 โดยเริ่มธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แล้วมาเริ่มธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ในปี 2541 พร้อมกับหยุดประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จนมาถึงปัจจุบัน MTLS ประกอบธุรกิจหลัก 2 ด้าน คือ สินเชื่อที่มีหลักประกัน คือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถแทรคเตอร์ และสินเชื่อจำนำโฉนดที่ดิน ส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน คือ สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยในปัจจุบัน MTLS ถือว่าเป็นเจ้าตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมไปถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์
ที่สำคัญ MTLS มีการเติบโตโดดเด่นมาโดยตลอด ตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2557 ทำให้มีเงินทุนที่จะขยายธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ทำให้ MTLS มีการเร่งเปิดสาขา โดย ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวนสาขาแล้วถึง 2,424 สาขา และการเปิดสาขาเพิ่มจำนวนมากนี้เอง ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มได้มากขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อเติบโตอย่างโดดเด่นมาโดยตลอด โดยนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมาจนถึงปี 2560 ที่ผ่านมา MTLS มียอดสินเชื่อเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 67.7% และ ทำให้กำไรสุทธิเฉลี่ยเติบโตโดดเด่นถึง 77.1%
ฝ่ายวิจัยจาก บล.ฟิลลิป เชื่อว่า MTLS สามารถจะเติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต เพราะยังมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายจำนวนสาขาถึง 4,000 สาขาในปี 2563 ซึ่งการเปิดสาขาจำนวนมากทำให้ MTLS มีการประหยัดต่อขนาด ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุน ลดต่ำลง และสาขาจำนวนมากนี้เองเป็นช่องทางให้ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น การคืนทุนค่อนข้างเร็ว และทำให้ยอดสินเชื่อต่อสาขายังคงเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2559 มียอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อสาขา 16.85 ล้านบาท และปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 17.68 ล้านบาท และในปี 2561 - 2562 ก็ยังคาดว่าการเติบโตจะยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง โดยคาดว่าสินเชื่อจะเติบโตเฉลี่ย 32.5% และกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 37.9%
รวมถึง MTLS มีการควบคุมความเสี่ยงที่ดี โดยมี NPL อยู่ในระดับต่ำมากเพียง 1.2% และมีระดับสินเชื่อผิดนัดโดยยังไม่เป็น NPL อีกเพียง 8% และมีสินเชื่อปกติอยู่ถึง 90.8% นอกจากนี้ยังมีระดับสำรองต่อ NPL ที่สูงมาก โดยมีอยู่ถึง 265% ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ในอนาคต ประเมินราคาพื้นฐานไว้ที่ 54.50 บาท