กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ทปอ. จัดงาน "อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0 เอส" โชว์นวัตกรรม 5 กลุ่ม เกษตรและอาหาร พลังงาน สังคมผู้สูงอายุ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นักวิจัยไทยเจ๋ง สร้างหุ่นยนต์ระดับโลก JARVIS หุ่นยนต์รับคำสั่งในบ้าน หวังต่อยอดสร้างโอกาสเชิงพาณิชย์
ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สนองนโยบายรัฐบาล ผลักดันมหาวิทยาลัยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรม หรือ Innovation Hubs เพื่อเร่งผลักดัน SMEs ทั่วประเทศ โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Tech Start up) ให้มีความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้นวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้มาพัฒนา ตั้งเป้าดัน SMEs ไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 10% เพื่อยกระดับสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมให้ประเทศ ผ่าน 5 กลุ่มนวัตกรรม ได้แก่ เกษตรและอาหาร พลังงานชีวภาพ สังคมผู้สูงอายุ เมืองอัจฉริยะ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนผลักดันหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากสถาบันการศึกษาซึ่งบางผลงานเคยผ่านเวทีระดับโลกมาแล้วให้มีโอกาสขยายสู่ความสำเร็จในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดงานไทยแลนด์อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0 เอส (Thailand Innovation Hubs 4.0s) เพื่อแสดงศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย 5 กลุ่มนวัตกรรม และไฮไลท์พิเศษ โชว์กองทัพ AI หุ่นยนต์อัจฉริยะจากหลายสถาบันการศึกษา อาทิ หุ่นยนต์ JARVIS หุ่นยนต์ Grubbot หุ่นยนต์ N/AX เป็นต้น โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2561ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ฮอลล์ 1-2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 02 - 3545150 - 2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/Thailand.Innovation.Hubs4.0s/
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ผู้อำนวยการโครงการ Innovation Hubs กล่าวว่า ประเทศไทย 4.0 เป็นนโยบายในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปองค์ความรู้ผ่านระบบการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิรูปคนและการศึกษาไปพร้อมๆ กัน ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพ (Bio-diversity) จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ความได้เปรียบนั้นเป็นความได้เปรียบเชิงแข่งขันให้ได้ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ) ในฐานะองค์กรหลักในการพัฒนาอุดมศึกษา จึงมีการดำเนินการในรูปแบบศูนย์นวัตกรรม (Innovation Hubs) ซึ่งในระยะแรก จะใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยและเน้นต่อยอดงานวิจัยให้เป็นนวัตกรรม จากนั้นใช้กลไกการทำงานแบบประชารัฐ(Public Private Partnership – PPP) ในการสร้างความร่วมมือกับทุกฝ่าย และขยายผลจากงานวิจัยในมหาวิทยาลัยสู่การใช้ประโยชน์หรือการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Tech Start up) และยกระดับผู้ประกอบการเดิม (Existing industry) เพื่อสร้างความสามารถในการผลิตและการแข่งขันให้ SMEs ของประเทศ ตั้งเป้าดัน SMEs ไทยด้วยงานวิจัยไม่ต่ำกว่า 200 ราย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ SMEs ไม่ต่ำกว่า 10% โดยมุ่งเน้น 5 กลุ่มนวัตกรรม ซึ่งได้แก่
1. กลุ่มเกษตรและอาหาร (Agriculture & Food) เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ ผลิตภัณฑ์จากความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความงาม อาหารเพื่อผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ตลอดจนอาหารที่มีรูปแบบและนวัตกรรมการบริโภคแบบใหม่ อาทิ น้ำพริกหนุ่มอบแห้ง เยลลี่ผักสมุนไพร เป็นต้น
2. กลุ่มพลังงานชีวภาพ (BioEnergy) มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานชีวภาพที่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะก๊าซชีวภาพและชีวมวลสำหรับชุมชน อาทิ ถ่านไร้ควันจากวัตถุเหลือทิ้งจากการเกษตร น้ำมันดีเซลจากขยะพลาสติก เป็นต้น
3. กลุ่มสังคมสูงอายุ (Ageing Society) การใช้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของประเทศและของโลก อาทิ บ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ BLISS ช่วยบำบัดเด็กออทิสติก ระบบหุ่นยนต์โต้ตอบเพื่อเฝ้าระวังผู้มีภาวะซึมเศร้า สมุนไพรสกัด ตลอดจนแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
4. กลุ่มเมืองอัจฉริยะ (Smart City) มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การคมนาคม การขนส่งสินค้า การจัดการด้านพลังงาน ความปลอดภัย การส่งเสริมระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ตลอดจนนวัตกรรมการเตือนภัยทางธรรมชาติ
5. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมด้วยการบูรณาการความรู้และเทคโนโลยีกับต้นทุนภูมิปัญญา และศักยภาพท้องถิ่น สร้างสรรค์ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ เครื่องคัดลอกและผลิตไม้แกะสลักด้วยระบบสแกน 3 มิติ ไหมไทยไฮเทคไม่กลัวเครื่องซักผ้า เครื่องถมไร้สารตะกั่ว เป็นต้น
รองศาสตราจารย์ ดร.พีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน 'หุ่นยนต์' ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยคาดว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้หุ่นยนต์ทั่วโลก มีโอกาสจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาสนใจใช้งานหุ่นยนต์ทำงานแทนคนมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบาย หรือลดความเสี่ยงในการทำงาน ขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันทางธุรกิจที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การใช้งานหุ่นยนต์ทั้งในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับการพัฒนาหุ่นยนต์ในประเทศไทย ถือได้ว่ามีความพร้อมด้านบุคลากรที่สร้างต้นแบบหุ่นยนต์ที่มีคุณภาพและศักยภาพสูงมาก อาทิ อาทิ หุ่นยนต์ JARVIS หุ่นยนต์ Grubbot หุ่นยนต์ N/AX หุ่นยนต์ Rescue Robot และหุ่นยนต์ TeleMed เป็นต้น ซึ่งบางชิ้นงานเคยผ่านเวทีระดับโลกมาแล้วและสามารถต่อยอดได้ ซึ่งสามารถรับคำสั่งได้หลากหลาย เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์แพทย์เคลื่อนที่ หุ่นยนต์ช้อปปิ้ง หรือแม้แต่หุ่นยนต์ช่วยบำบัดเด็กออทิสติก หุ่นยนต์กู้ภัย เป็นต้น หากแต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาต่อยอดหุ่นยนต์ให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างโอกาสให้กับวงการอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทยและขยายความสำเร็จในระดับโลกต่อไป
ทั้งนี้ ทปอ.ได้จัดงานไทยแลนด์อินโนเวชั่น ฮับส์ 4.0 เอส (Thailand Innovation Hubs 4.0s) เพื่อแสดงศักยภาพผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากฝีมือคนไทยให้มีโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมให้ประเทศ และไฮไลท์พิเศษ โชว์กองทัพ AI หุ่นยนต์อัจฉริยะจาก 5 สถาบันการศึกษา โดยมีศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2561ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ฮอลล์ 1-2 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หมายเลขโทรศัพท์ 02 - 3545150 - 2 หรือเข้าไปที่ https://www.facebook.com/Thailand.Innovation.Hubs4.0s/