กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC เป็นลบจากมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัทฯ ที่ 'A(tha)' อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ที่ 'A(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ 'F1(tha)'
การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของอัตราส่วนกำไร และความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินมาสู่ระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ในขณะที่ยังมีความท้าทายสูงในตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศไทย อัตราส่วนหนี้สินที่สูงของ SCCC ภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการในช่วงปี 2559 ถึงไตรมาส 1 ปี 2560 น่ายังคงอยู่ในระดับสูงเป็นระยะเวลานานกว่าฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ การที่บริษัทฯ ใช้เวลานานกว่าที่คาดในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน เป็นผลมาจากผลประกอบการของ SCCC ที่อ่อนแอลงในปี 2560 การฟื้นตัวของภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศไทยที่ช้ากว่าที่คาด และความท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดปูนซีเมนต์ในภูมิภาค แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หากธุรกิจของ SCCC ในประเทศไทยมีการฟื้นตัว ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นผ่านราคาปูนซีเมนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากระดับต่ำสุดในปี 2560 และ EBITDA margin ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 21 ในปี 2561 ซึ่งจะมีผลทำให้อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดโดย อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2561 ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดได้หากผลประกอบการยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่องและการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าออกไปอีก
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การปรับลดอัตราส่วนหนี้สินล่าช้ากว่าที่คาด – ฟิทช์คาดว่า FFO adjusted net leverage ของ SCCC จะอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2561 และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5-3.0 เท่า ณ สิ้นปี 2562-2564 โดยฟิทช์เชื่อว่าการฟื้นตัวของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศจะทำให้รายได้เติบโตและอัตรากำไรปรับตัวดีขึ้น อัตราส่วนหนี้สินของ SCCC เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.6 เท่า ณ สิ้นปี 2560 แทนที่จะลดลงมาอยู่ที่ 3.0 เท่าตามที่ฟิทช์เคยประมาณการไว้ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศที่หดตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเพิ่มทุนเข้ามาจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาทในปี 2560 ก็ตาม ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีการเร่งใช้จ่ายเงินในโครงการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ SCCC ปรับตัวลดลง
การฟื้นตัวของความสามารถในการทำกำไร – ฟิทช์คาดว่า EBITDA margin ของ SCCC จะฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 21-22 ในปี 2561-2562 หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559-2560 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 20 และร้อยละ 19 ตามลำดับ (จากเดิมร้อยละ 23 ในปี 2558) EBITDA margin ที่ลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากการหดตัวของราคาและความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากธุรกิจในประเทศศรีลังกา และเวียดนามยังคงอยู่ในระดับที่ดี ฟิทช์เชื่อว่าความกดดันที่มีต่ออัตราส่วนกำไรในประเทศจะลดลงในปี 2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตของความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทย และราคาปูนซีเมนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการลดต้นทุนต่างๆ ที่บริษัทฯ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560
การเติบโตของรายได้ในระดับปานกลาง –รายได้ของ SCCC จากฐานการผลิตในทุกประเทศน่าจะเติบโตขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า โดยได้รับการสนับสนุนจากการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะฟื้นตัว การรับรู้รายได้เต็มปีของธุรกิจในประเทศเวียดนาม (ปี 2560 รับรู้รายได้เพียง 10 เดือน) และการเพิ่มกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศศรีลังกา อย่างไรก็ตาม รายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังประเทศกัมพูชาน่าจะลดลง จากการที่กำลังการผลิตของกิจการร่วมค้าของ SCCC เริ่มดำเนินการผลิตภายในประเทศกัมพูชา ในปี 2561 ซึ่งจะมาทดแทนการนำเข้าจากประเทศไทย ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้โดยรวมของบริษัทฯ จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5-8 ต่อปี ในปี 2561-2562
การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น – ฟิทช์คาดว่า การกระจายความเสี่ยงของแหล่งที่มาของรายได้ในเชิงภูมิศาสตร์ที่มากขึ้นของ SCCC จะช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดภายในประเทศเพียงตลาดเดียว และช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความสม่ำเสมอมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่ธุรกิจในภูมิภาคที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า ช่วยลดผลกระทบจากความอ่อนแอของตลาดในประเทศไทยที่มีต่อ EBITDA margin ในปี 2560 รายได้จากต่างประเทศของ SCCC เติบโตอย่างมากในปี 2560 มาอยู่ที่ระดับเกือบ 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของรายได้รวม (ในปี 2559 รายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26 ของรายได้รวม)
ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง – SCCC เป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับร้อยละ 27-28 โดยวัดจากยอดขาย บริษัทฯ สามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดของตนเองไว้ได้ในช่วงที่มีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาด และมีการแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยอาศัยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า และการยอมปรับลดอัตราส่วนกำไรลงบางส่วน นอกจากนี้ SCCC ยังมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งสำหรับธุรกิจในภูมิภาค โดยเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 35-38 และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามใต้ ด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 20-22
ผลการดำเนินงานมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – EBITDA margin ของบริษัทฯ มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 70 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ฟิทช์คาดว่าราคาถ่านหินโดยเฉลี่ยในปี 2561 จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยของปี 2560 อย่างไรก็ตาม SCCC ได้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อประกันราคาถ่านหิน ในสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ถ่านหินทั้งหมดในปี 2561
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
บริษัทฯ มีสถานะทางธุรกิจที่ด้อยกว่าบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A+(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เช่นเดียวกัน ในด้านขนาดของธุรกิจ ตำแหน่งทางการตลาดในประเทศในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุด และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจ สถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่งกว่าทำให้ SCC ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC หนึ่งอันดับ ความแตกต่างของอันดับเครดิตอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของ SCCC ในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สินในหนึ่งปีข้างหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
SCCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO (อันดับเครดิตปัจจุบัน 'A-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางมะตอยชั้นนำของประเทศไทย โดย SCCC มีธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่มีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจยางมะตอยของ TASCO อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์มีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่าและครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางกว่าอุตสาหกรรมยางมะตอย นอกจากนี้ ผลประกอบการของผู้ผลิตยางมะตอยยังมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันดิบที่ผันผวน สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ SCCC ส่งผลให้บริษัทฯ มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า TASCO แม้ว่าจะมีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่าก็ตาม
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้จากธุรกิจในประเทศไทย เติบโตเล็กน้อยในอัตราร้อยละ 2 – 3 ในปี 2561 และร้อยละ 4 – 7 ต่อปี ในปี 2562-2563
- รายได้จากธุรกิจในประเทศศรีลังกา เติบโตในอัตราร้อยละ 13 – 15 ต่อปี ในปี 2561-2562 และประมาณร้อยละ 10 ในปี 2563 โดยส่วนหนึ่งมาจากการขยายกำลังการผลิต
- รายได้จากธุรกิจในประเทศเวียดนาม เติบโตในอัตราร้อยละ 15 – 17 ในปี 2561 โดยส่วนหนึ่งมาจากการรับรู้รายได้เต็มปี และร้อยละ 3 – 6 ต่อปี ในปี 2562-2563 โดยส่วนหนึ่งมาจากการขยายกำลังการผลิต
- EBITDA margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 21-22 ในปี 2561 - 2563
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 70
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพได้หากธุรกิจในประเทศไทยมีการฟื้นตัวและผลกำไรกลับมาแข็งแกร่ง โดย EBITDA margin ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 21 ในปี 2561 และ FFO adjusted net leverage ปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2561
ปัจจัยลบ:
- หากปัจจัยบวกข้างต้นไม่เกิดขึ้น อาจมีการพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นับจาก สิ้นปี 2560 จำนวน 5.4 พันล้านบาท โดยร้อยละ 90 เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นและวงเงินหมุนเวียนที่ใช้สำหรับบริหารเงินทุนหมุนเวียน สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 และความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนมาชำระหนี้ โดยอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ และประวัติที่ดีในการเข้าถึงเงินทุนผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงิน