กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
ดีเอชแอล ผู้นำธุรกิจขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก เปิดเผย ผลการสำรวจความคิดเห็นประจำปีล่าสุดเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถาณการณ์การส่งออกของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญว่าผู้ส่งออกไทยยังคงมั่นใจในภาพรวมของธุรกิจการส่งออก แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
การสำรวจเกี่ยวกับภาพรวมของเศรษฐกิจและการส่งออก ซึ่งจัดขึ้นโดยดีเอชแอลเป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วนั้น คาดการณ์ว่าสภาวะเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศไทยจะยังคงที่ถึงชะลอตัวเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 และจะขยายตัวในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสอบสำรวจคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะปรับตัวดีขึ้นในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2551-2553)
ผลการสำรวจยังพบว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบด้านลบสูงสุดต่อการค้าระหว่างประเทศ ตามมาด้วยสถาณการณ์เศรษฐกิจโลก โดยประมาณร้อยละ 69 ของผู้ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ค่าเงินบาทที่สูงขึ้นเมื่อเปลี่ยนเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลเหรียญสหรัฐฯ นั้น ส่งผลลบอย่างมากต่อธุรกิจ โดยมากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงในครึ่งปีหลังของปี 2550 ซึ่งจะส่งผลดีต่อทุกภาคธุรกิจการส่งออก
ด้านราคาน้ำมันนั้น คาดว่าจะคงที่และไม่สูงขึ้นมากไปกว่านี้ในอนาคต ส่วนปัจจัยลบอื่นๆ ที่มีผลต่อสภาวะโดยรวมและการนำเข้าได้แก่ การชะลอตัวของการอุปโภค บริโภค และการลงทุนจากภาคเอกชน
นายเฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ ภาคพื้นอินโดจีน - ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส เปิดเผยว่า “ในฐานะกลไกขับเคลื่อนทางการค้าของอุตสาหกรรม ดีเอชแอลไม่เพียงแต่มุ่งมั่นในการมอบบริการที่เป็นเลิศเท่านั้น แต่ยังพยายามที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของลูกค้าและคู่ค้าทางธุรกิจของเราอย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลสนับสนุนเชิงลึก โดยปีนี้นับเป็นปีที่สองแล้วที่เราจัดทำผลสำรวจ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย การสำรวจนี้มุ่งให้ภาพรวมทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจที่จะช่วยให้ลูกค้า และคู่ค้าทางธุรกิจของเรามองเห็นหนทางในการเพิ่มผลผลิตอย่างชาญฉลาด ท่ามกลางบรรยากาศการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน”
ชี้ส่งออกลู่ทางสดใส
ผู้ตอบแบบสำรวจมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์การส่งออกจะดีกว่าสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ประมาณร้อยละ 27 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่าการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2550 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2549 นอกจากนั้นแล้ว ร้อยละ 87 คาดว่าการส่งออกจะดีขึ้นในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2549 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้อยละ 23 คาดว่าการนำเข้าจะลดลงเมื่อเทียบกับการส่งออก แต่จะยังปรับตัวดีขึ้นในปี 2553
นอกจากนั้นแล้ว สินค้าที่มีคุณภาพ การบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และราคาสินค้าที่เหมาะสม ถูกระบุเป็นข้อได้เปรียบของสินค้าส่งออกของไทย ด้วยการให้คะแนนสูงสุดสามอันดับจากการทำแบบสำรวจ
มุ่งขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่
องค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น และยุโรปจะมีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ทางด้านเศรษฐกิจของจีนนั้นจะมีการขยายตัวเกินร้อยละ 10 ในปี 2551 โดยไทยเองมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และยุโรป รวมถึงตลาดใหม่ อันได้แก่ จีน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และแอฟริกา ได้มากขึ้นโดยมีอัตราการเติบโตมากขึ้นถึงร้อยละ 30-40 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550
ผลการสำรวจชี้ว่า เกือบทุกภาคธุรกิจเชื่อว่า ความต้องการสินค้าของประเทศไทยจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2550 โดยคาดว่าความต้องการจากสหรัฐอเมริกาจะคงที่หรือลดลงภายในปี 2553
ผลดี-ผลเสียของข้อตกลงเขตการค้าเสรี
จากผลการสำรวจของดีเอชแอลประจำปี 2550 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่าร้อยละ 50 เห็นว่าข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) มีผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยข้อดีหลักคือการลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ และยางรถยนต์ เหลือร้อยละ 5 ในขณะที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอินเดียและไทย (ITFTA) นั้นผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่าจะยังไม่มีผลดีกับการนำเข้าหรือการส่งออกของไทยในระยะสั้น แต่จะส่งผลดีในระยะยาว เนื่องจากอินเดียเองเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่น และมีความต้องการในการบริโภคสินค้าสูง
นอกจากนั้นแล้ว จากผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่เห็นว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีข้อดีมากกกว่าข้อเสีย ซึ่งข้อดีดังกล่าวได้แก่ สามารถนำเข้าวัตถุดิบ และอุปกรณ์เพื่อการผลิตต่อในราคาที่ต่ำ และยังสามารถเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากหุ้นส่วนที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น จากผลสำรวจยังพบว่าเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ASEAN-China FTA) ส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าด้านบวกต่อการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ามาแข่งขันกับสินค้าในประเทศมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศไทย (DHL Thailand Export Outlook) ประจำปีโดยดีเอชแอล
การจัดทำแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยริเริ่มโดยดีเอชแอล โดยมุ่งวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออกในประเทศไทย เพื่อระบุถึงแนวโน้มภาคการส่งออก ซึ่งได้มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2549
ในการจัดทำนั้นจะมีการดำเนินการสำรวจความคิดเห็นอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกให้กับลูกค้าเกี่ยวกับคาดการณ์แนวโน้มทางด้านเศรษฐกิจในอีกสามปีครึ่งข้างหน้า
การสำรวจความคิดเห็นนี้ถูกพัฒนาและดำเนินการโดย ศูนย์วิจัยการส่งออก (Export Outlook Center) บริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม - 25มิถุนายน 2550 โดยได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วยผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่นำเข้าส่งออกจำนวน 204ราย และตัวแทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคม หอการค้า คณะผู้แทนการค้าที่สำคัญๆ อีก 215 ราย โดยมีการสำรวจในเชิงลึกจำนวนทั้งสิ้น 37 ราย
ข้อมูลเพิ่มเติมดีเอชแอล
ดีเอชแอล ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ระดับโลก ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญพิเศษในการมอบนวัตกรรมและโซลูชั่นซึ่งได้รับการออกแบบโดยเฉพาะเพื่อสนองตอบความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียว ดีเอชแอลเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการขนส่งด่วน การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการทั่วทุกมุมโลก และมีความเข้าใจถึงความต้องการของตลาดในแต่ละประเทศได้อย่างลึกซึ้ง ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศ และอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก โดยมีบุคลากรกว่า 285,000 คนทั่วโลก ที่พร้อมมอบบริการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ครบวงจรที่รวดเร็ว วางใจได้ และเกินความคาดหวังของลูกค้า ดีเอชแอล เป็นหนึ่งในตราสินค้าของดอยช์ โพสท์ เวิลด์ เน็ต ซึ่งสามารถทำรายได้ 60 พันล้านเหรียญยูโร ในปี 2006
ดีเอชแอล ประเทศไทย ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์อย่างครบวงจรด้วยศักยภาพของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ดีเอชแอล โกลบอล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง และดีเอชแอล เอ็กเซล ซัพพลายเชน ที่ช่วยให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่จากการติดต่อผู้ให้บริการเพียงรายเดียว (one-stop-shop) ซึ่งรองรับการขนส่งทุกรูปแบบ ตั้งแต่เอกสารไปจนถึงตู้คอนเทนเนอร์ โดยมีพนักงาน 1,700 คนให้บริการอย่างมืออาชีพ ผ่านเครือข่ายและจุดบริการมากกว่า 20 แห่ง ที่ให้บริการครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมที่เว็บไซต์ http://www.dhl.co.th
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ปิยลัคน์ พิทยาพิบูลพงศ์ หรือ ภัสสริน ลิมปนวงศ์แสน
บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2345-5602 หรือ 5608 โทรสาร 0-2285-5732
อีเมล์ piyalak.pitayapibulphong@dhl.com
passarin.limpanawongsaen@dhl.com
ดุจเดือน จารุกะกุล หรือ วิสาข์ เชี่ยวสมุทร
ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน ประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2627-3501 ต่อ 114 หรือ 107 โทรสาร 0-2627-3510
อีเมล์ drussamee@th.hillandknowlton.com
vrodcumdee@th.hillandknowlton.com