กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--สมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย
ประธานกลุ่มเหล็กสภาอุตฯเชื่อมั่นพรบ.ตอบโต้ทุ่มตลาดมุ่งส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และการค้าเสรีตามกติกาโลก ชี้เป้าหลักใช้ควบคุมพฤติกรรมทุ่มตลาดที่หลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า ผอ.สถาบันเหล็กมั่นใจไม่เกิดการผูกขาดและขาดแคลนสินค้าแน่นอนเพราะอัตราการใช้กำลังการผลิตในประเทศเพียง30%เท่านั้น
ตามที่มีสมาคมผู้นำเข้าสินค้าเหล็กออกมาคัดค้านการปรับปรุง พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ที่กำหนดให้มีบทบัญญัติเรื่องการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention : AC) โดยกังวลว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดสินค้า ราคาไม่สอดคล้องกับต้นทุน หรือ การไม่สามารถนำเข้าสินค้าคุณภาพสูงได้นั้น
นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อการปรับปรุง พรบ. ตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ในครั้งนี้ว่า "การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์จริงในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหมดของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงเพื่ออุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสามารถบังคับใช้ได้กับทุกรายการสินค้าที่ผู้ส่งออกจากต่างประเทศมีพฤติกรรมส่งออกสินค้าทุ่มตลาด โดยการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าที่ประเทศไทยมีการบังคับใช้อยู่
"กฎหมายการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าดังกล่าวมีการบังคับใช้ในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ซึ่งทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว มีจำนวนการใช้มาตรการทางการค้าสำหรับสินค้าเหล็กเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ประการสำคัญก็คือยังไม่พบปัญหาการผูกขาด หรือการขาดแคลนสินค้าแต่อย่างใด ในทางกลับกันยังเป็นประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กเป็นอันดับ 1 และ 2 ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการบังคับใช้มาตรการทางการค้าเป็นเพียงการป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากบางประเทศเท่านั้น แต่ยังคงมีการแข่งขันอย่างเสรีกับผู้ผลิตจากประเทศที่ปฏิบัติตามกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) "
นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย (ISIT) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีการบังคับใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าเหล็กหลายรายการ แต่โดยปกติจะมีการยกเว้นการบังคับใช้สำหรับสินค้าเหล็กคุณภาพสูงที่ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศอยู่แล้ว รวมถึงยกเว้นให้กับการนำสินค้าเหล็กเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันกับประเทศต่างๆในตลาดโลก จะเห็นได้จากการที่ไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเหล็กเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา นั่นหมายความว่าการบังคับใช้มาตรการทางการค้าไม่ได้ทำให้การแข่งขันอย่างเสรีหายไป แต่เป็นการจำกัดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น"
"สินค้าเหล็กเป็นสินค้าควบคุมที่มีการตรวจติดตามอย่างเข้มงวดโดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ทำให้การจำหน่ายสินค้าต้องสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังมี พรบ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มีการควบคุมและป้องกันการผูกขาด และการค้าที่ไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการค้าที่เท่าเทียมกันในประเทศ"
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเหล็กทั้งทรงยาว และทรงแบนโดยรวมประมาณ 20 ล้านตัน แต่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตเพียง 30-40% เท่านั้น จึงมั่นใจได้ว่ามีกำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สินค้าเหล็กจะขาดแคลน หรือมีการกักตุนเพื่อทำกำไร
ด้านนายมนชัย เรืองศรีนุกุลกิจ นายกสมาคมโลหะไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมในกรณีที่มีชื่อสมาคมโลหะไทยไปร่วมยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไข พรบ. การทุ่มตลาดฯ ว่า "การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของสมาชิกสมาคมบางส่วนเท่านั้น ไม่ใช่มติของสมาคมแต่อย่างใด ทั้งนี้การดำเนินการใดๆของสมาคมจะต้องผ่านความเห็นชอบของสมาคมเสียก่อน และหากการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวสามารถสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ และทำให้ผู้ผลิตและผู้ใช้เหล็กสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันต่อไปได้อย่างยั่งยืนและเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อทุกฝ่าย"