กรุงเทพฯ--5 เม.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากที่ตนได้ติดตามข้อมูลในภาพรวมเกี่ยวกับจำนวนนักเรียนที่สมัครเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบ TCAS ประจำปีการศึกษา 2561 พบว่ามีเด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สมัครเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กว่า 8 หมื่นคน ในขณะที่สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ สามารถรับนักศึกษาได้กว่า 1.2 แสนคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปีนี้มีเด็กที่จะเข้าสู่การเรียนระดับอุดมศึกษาลดลง ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีเด็กจำนวนหนึ่งที่หันเข้าสู่อาชีพก่อนก็ได้ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมส่งผลให้ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจะขาดแคลนหรือมีตัวเลขเด็กที่จะเข้ามาเรียนลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน เพราะส่วนใหญ่แล้วนักเรียนจะมุ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยของรัฐก่อน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ชื่อเสียงและค่าเล่าเรียนที่ถูก นอกจากนี้มหาวิทยาลัยที่เปิดการเรียนการสอนภาคพิเศษ เช่น เรียนวันเสาร์-อาทิตย์เรียนเฉพาะภาคบ่าย ก็ได้รับผลกระทบในเรื่องจำนวนนักศึกษาลดลงเช่นเดียวกัน เพราะเด็กจะมุ่งสู่การเรียนภาคปกติเป็นหลัก จะมีคนมาสมัครเข้าเรียนบ้างก็อาจจะเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง เช่น ผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และเป็นคนที่ทำงานแล้ว จึงจะสมัครเรียนภาคพิเศษ ขณะเดียวกันจากการติดตามข้อมูลยังพบสาขาวิชาในกลุ่มสังคม กลุ่มศิลปะมีตัวเลขลดลงพอสมควร แต่ในกลุ่มวิศวกรรม กลุ่มอาหาร กลุ่มคอมพิวเตอร์ ยังถือว่าได้รับความสนใจจากนักศึกษาสมัครเข้าเรียนต่อเป็นจำนวนมาก และที่น่ายินดีก็คือกลุ่มที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มสุขภาพ มีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าเรียนเต็ม
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า สิ่งที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องคำนึงและจะต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดก็คือ 1.ต้องเน้นการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มุ่งสู่อาชีพในอนาคต 2.หลักสูตรที่ขาดความชัดเจนในการประกอบอาชีพจะไม่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาอีกต่อไป ดังนั้นแต่ละหลักสูตรที่เปิดสอนจะต้องบอกได้ว่าจบไปแล้วสามารถไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ทุกวันนี้ก่อนนักเรียนจะเข้าศึกษาต่อจะมีการศึกษาหาข้อมูลมากขึ้นก่อนตัดสินใจ ผิดกับอดีตที่จะเรียนตามเพื่อนและรู้จักหลักสูตรก็ต่อเมื่อเข้าเรียนแล้ว หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีมหาวิทยาลัยทยอยปิดหลักสูตรที่ไม่มีนักศึกษาสมัครเรียน ทั้งจะมีมหาวิทยาลัยที่มุ่งเป้าไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางมากขึ้น และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดหลักสูตรภาคพิเศษเหมือนที่ผ่านมาอีกต่อไป
"นักศึกษาที่หายไปจากระบบบางคนเข้าสู่อาชีพ ซึ่งผมยังเชื่อว่าเด็กยังมีความต้องการที่จะเรียนต่อ เพียงแต่ระบบที่เด็กจะเข้าเรียนนั้น ต้องเอื้อต่อการทำงาน เช่น ระบบออนไลน์ ดังนั้นวันนี้ สถาบันอุดมศึกษาจะต้องไม่ใช่จัดการเรียนการสอนเพื่อนักเรียนระดับ ม.6 หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แต่ต้องกลับไปมองกลุ่มที่ทำงานควบคู่ไปกับการเรียน พร้อมทั้งจัดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อตอบสนองกลุ่มนี้ มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวและเตรียมตัวกับการเรียนการสอนที่จะเปลี่ยนไป รวมทั้งมุ่งทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์สร้างกำลังคนให้ถูกกับงาน และสามารถทำงานได้จริง" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวและว่า สำหรับมทร.ธัญบุรี มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการเรียนของนักศึกษามาตลอดระยะเวลา 2 ปี มีการยุบรวมหลักสูตร 4-5 หลักสูตร และปีการศึกษา 2562 จะมีการบูรณาการหลักสูตรที่เกี่ยวกับสิ่งทอ อาหาร วิทยาศาสตร์การอาหาร จัดหลักสูตรใหม่ให้นักศึกษามีองค์ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้มีความรู้แบบครบวงจร เพราะทุกวันนี้นักศึกษาเรียนไม่ได้คิดเฉพาะประกอบอาชีพแต่มีความต้องการเป็นผู้ประกอบการด้วย.