“น้ำ” ปัญหาซึมบ่อทราย ของ “ชุมชนสึนามิ”

ข่าวบันเทิง Wednesday September 5, 2007 17:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ผ่านไป 3 ขวบปี ฝันร้ายไม่เคยจาง แม้ร่องรอยของ “สึนามิ” ในพื้นที่จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ แต่เวลาไม่สามารถลบเลือนความทรงจำอันแสนโหดร้ายในครั้งนั้นไปได้ ..
คุณครู โสมนภา บันเทิง เรือจ้างวัยใกล้เกษียณ แห่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จังหวัดภูเก็ต กับภาพที่หันหน้าหนีเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์สึนามิ ช่วยย้ำว่า ไม่มีใครอยากพูดถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายของชีวิต และพยายามที่จะกลบฝังมันไว้ในก้นบึ้งของหัวใจ ไม่ต้องการให้ใครมาขุดคุ้ยให้ขุ่นข้นขึ้นมาอีก “ไม่เล่า ไม่อยาก พูดถึง ก็มีผู้คนที่มีน้ำใจเข้ามาช่วยเหลือเยอะแยะไปหมด ก็ต้องขอบคุณอย่างมาก แต่ปัญหาสำคัญสำหรับชีวิตในชุมชนสึนามิในปัจจุบันและอนาคต ก็คือเรื่อง “น้ำ” เมื่อก่อนที่สึนามิจะเข้ามา ชาวบ้านก็ขุดบ่อบาดาลใช้กันทั้งนั้น ซักผ้า อาบน้ำ ทำครัว สำหรับน้ำดื่มก็นำน้ำบาดาลมาต้ม แต่หลังเกิดสึนามิ น้ำบาดาลใช้ดื่มกินไม่ได้เลย ใช้ซักล้าง ก็พอกล้อมแกล้ม (พอไหว) ต้องซื้อน้ำดื่มกันทุกครัวเรือน”
อัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ตอนนี้เรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ของที่นี่ เพราะภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ทุกวันนี้ใช้น้ำจากเขื่อน “บางวาด” ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์สึนามิ น้ำบ่อบาดาลใช้ไม่ได้ เพราะแรงดันจากน้ำทะเลเซาะชั้นดินจนทำให้กลายเป็นน้ำกร่อย การบริโภคน้ำเพิ่มปริมาณมากขึ้น โครงการระยะยาวที่กำลังมองคือ เรื่องทำน้ำเค็มให้เป็นน้ำจืด ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงมาก แต่เราก็ต้องทำ ขณะนี้กำลังศึกษาและเตรียมเสนอรายละเอียดให้กับรัฐบาลสมัยหน้า”
เสียงสะท้อนจากชาวบ้านในชุมชนสึนามิ บ้านหาดยาว จังหวัดกระบี่ “ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ น้ำต้องซื้อกิน งานรับจ้างทำสวนปาล์ม มีเป็นบางวัน จะออกเรือหาปลาก็ต้องนั่งรถออกไปอีกไกล เพราะหลังเกิด สึนามิ ก็ย้ายมาอยู่ชุมชนที่ห่างจากฝั่งทะเลมากโขอยู่ มีหน่วยงานช่วยเหลือสร้างบ้านให้ ก็อยู่ไปอย่างนี้แหละ”
“น้ำ” ปัญหาเล็กๆ ของชุมชนสึนามิในวันวาน ล่วงมาถึงวันนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามหาทางแก้ปัญหา ...
วิมลวรรณ อุดมพร และพนักงาน จาก บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้ไปสัมผัสกับผู้ประสบภัยสึนามิหลายครั้ง เพื่อช่วยเหลือทั้งในด้านการบริจาคสิ่งของและเงินทอง ทำให้รู้ว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการคือ “น้ำ” ผนวกกับการที่ Mr. Geoffrey Bush ประธานมูลนิธิดิอาจิโอ (Diageo Foundation) ประเทศอังกฤษ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัยสึนามิที่จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยคณะทำงานของกองทุน Keep Walking Thailand Tsunami และพบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อนอย่างมากเพราะขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงเรียนบ้านกมลาในจังหวัดภูเก็ต มีนักเรียน หลายคนที่พ่อแม่เสียชีวิตจากธรณีภัยพิบัติและต้องอพยพมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้ โดยในแต่ละวัน ทางโรงเรียนต้องซื้อน้ำผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งโรงเรียนมีงบประมาณไม่เพียงพอ กับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่กว่า 400 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ดังนั้น Mr. Geoffrey Bush ประธานมูลนิธิดิอาจิโอ จึงมีดำริที่จะจัดสร้างบ่อน้ำบาดาลให้กับพื้นที่ที่ประสบภัย โดยได้มอบเงินจำนวน 7 ล้านบาท ให้กองทุน Keep Walking Thailand Tsunami Fund โดยบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด ใน ขณะนั้น เป็นผู้ดูแล จึงได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้พระราชทานเงิน 1 ล้านบาทเข้ากองทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ (เพื่อช่วยภาคใต้) และจัดสรรเงินจำนวน 6 ล้านบาท ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินโครงการ ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจสิรินธรเป็น ผู้ประสานงานในพื้นที่
สมคิด บัวเพ็ง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า “กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้สนอง พระราชประสงค์ โดยดำเนินโครงการ “สร้างระบบประปาบาดาลและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้ประสบธรณีพิบัติภัย” โดยได้ดำเนินการใน 6 พื้นที่ รวม 3 จังหวัด โดยที่ จังหวัดพังงา 3 แห่ง ได้แก่ ชุมชนโรตารี่บ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอตะกั่วป่า, โรงเรียนบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า, โรงเรียนอ่าว กระพ้อ (เกาะยาว) ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดกระบี่ 2 แห่ง ได้แก่ บ้านหาดยาว ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเหนือคลอง, ชุมชนบ้านคลองโขน-พรุกม ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา และที่ จังหวัดภูเก็ต 1 แห่ง ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 ตำบลกมลา อำเภอกระทู้ ขั้นตอนการดำเนินงานมี 5 ขั้นตอน คือ การสำรวจหาแหล่งน้ำ, การขุดเจาะบ่อบาดาล, การสร้างระบบประปาบาดาล, การสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ, และการจัดระบบบริหารจัดการ การสร้างระบบประปาบาดาลและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อช่วงต้นปี 2550 และแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่อการติดตั้งระบบต่างๆ เสร็จสมบูรณ์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดการฝึกอบรมให้ “คณะกรรมการบริหารระบบประปาบาดาล” ที่ชุมชนจัดตั้งขึ้น เพื่อให้สามารถดูแลบำรุง รักษา และดำเนินการให้เกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน
นอกจากการช่วยให้ชุมชนและชาวบ้าน ครู นักเรียน ที่ประสบธรณีพิบัติภัย รวมกว่า 4,226 คน 876 ครัวเรือน ได้มีแหล่งน้ำสะอาดที่เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคแล้ว โครงการดังกล่าวยังได้ช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่ทุกคน เพราะได้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์เครื่องมือ ตลอดจนเทคนิคงานช่างและการซ่อมบำรุง ได้มีการส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน จากการผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดที่สะอาดและมีคุณภาพตามมาตรฐาน อย. โดยให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การจัดทำระบบบัญชี การวางแผนการใช้เงินกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน และมีระบบการตรวจสอบอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน”
หลังเปิดใช้ระบบประปาบาดาลในพื้นที่ดังกล่าวตัวแทนกรรมการบริหารที่ดูแลประปาบาดาลในชุมชนสึนามิกล่าวว่า “ดีมากเลยครับ น่าจะมีโครงการนี้ตั้งนานแล้ว เพราะมีเงินหมุนเวียนมาใช้กับกิจกรรมในหมู่บ้าน ในชุมชนเพิ่มขึ้นอีก เพิ่งจะเริ่มโครงการแต่ก็เก็บเงินค่าน้ำได้พอสมควร บางบ้านมีติดค้างค่าน้ำด้วย เราให้ติดได้ 3 เดือนครับ ชาวบ้าน และก็เด็กๆ ตื่นเต้น ดีใจกันใหญ่เลยครับ”
วิมลวรรณ อุดมพร ตัวแทนจาก บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ประเทศทั่วโลกพึงตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของน้ำ ว่ามีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ชาติมานานแล้ว ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่อง “น้ำ” ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเช่นกัน โดยถูกกำหนดให้เป็นนโยบายในระดับประเทศ บริษัทแม่ของดิอาจิโอฯ ซึ่งมีนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจคือ การเป็นมิตรกับชุมชนและตอบแทนชุมชนอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ จึงสนับสนุนอย่างเต็มที่กับโครงการดังกล่าว และมีแผนระยะยาวที่จะดำเนินการต่อยอด โดยดำเนินการในนามของโครงการ “Water of Life” โดยร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินตามพระราชประสงค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้มีพระราชประสงค์ให้สำรวจหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรที่ขาดแคลนในพื้นที่อีก 4 แห่ง การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ “สึนามิ” ในโครงการดังกล่าว ถือเป็นการให้ที่ยั่งยืน เป็นการสอนให้ชุมชนรู้จัก “ตกปลา” เอง ไม่ใช่ให้ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนตกปลาแล้วนำไปให้เหมือนที่ผ่านมา เพราะหลังมอบระบบประปาบาดาลแล้วชุมชนต้องบริหารจัดการกันเองในลักษณะรัฐวิสาหกิจชุมชน แม้ว่า “รูปแบบการบริหารจัดการ“ ของชุมชนอาจจะเพิ่งเริ่ม “ตั้งไข่” แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นเพื่อก้าวไปสู่อนาคตการเป็นรัฐวิสาหกิจชุมชนที่แข็งแรง”
อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวอีกว่า “แม้ว่าภารกิจและงบประมาณในการจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ประชาชน ซึ่งเคยอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบและการบริหารจัดการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ถูกถ่ายโอนไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผ่านไปยัง อบจ., อบต. แล้ว แต่ด้วยอุดมการณ์ของกรมทรัพยากร น้ำบาดาลที่ตรงกันกับ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนโครงการฯ ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมกันผลักดันให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จสัมฤทธิ์ผล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนตลอดไป นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังได้มีพระราชประสงค์ให้สำรวจหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ราษฎรที่ขาดแคลนในพื้นที่อีก 4 แห่ง ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะร่วมกับ “โครงการ Water of Life” ของบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการสนองพระราชประสงค์ต่อไป
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (PC&C)
โทร. 0 26691 6302 — 4, 0 2274 4781
(อุมา พลอยบุตร์, ภวิกา ขันธเขตต์, ชามานันท์ สุจริตกุล)

แท็ก สึนามิ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ