กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ให้เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฝนตกเพิ่มมากขึ้นและฝนตกหนักในช่วงระยะนี้ รวมทั้ง ผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศในระยะนี้ พบว่า ร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้ทั่วทุกภาคของประเทศมีฝนชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ในพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และลมกระโชกแรงในระยะนี้ รวมทั้งผู้ที่อาศัยบริเวณที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มน้ำ ให้ระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง และดินโคลนถล่มตามแนวเชิงเขา สำหรับชาวเรือ ควรระมัดระวังอันตรายจากการเดินเรือในระยะนี้ เบื้องต้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนไปยังจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้ง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและคลื่นลมแรง โดยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มความระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย หากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกันนานกว่า 6 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ให้พร้อมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา กรมปภ.ได้รับรายงานจากจังหวัดที่ประสบภัย ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม — 3 กันยายน 2550 มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 3 จังหวัด 7 อำเภอ 21 ตำบล 86 หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ลำปาง และสตูล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 20,706 คน 5,157 ครัวเรือน บ้านเรือนราษฎรเสียหายบางส่วน 70 หลัง ถนน 39 สาย ฝาย 5 แห่ง พื้นที่การเกษตร 150,523 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป