กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์กำชับคณะกรรมการชั่วคราวสหกรณ์สโมสรรถไฟเร่งเครื่องแก้ปัญหาการดำเนินงาน ภารกิจด่วนดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายคืน สรางสภาพคล่องช่วยสมาชิกได้กู้ยืมเงินได้ ก่อนเจรจาเจ้าหนี้ต่างๆให้เสร็จสิ้น แล้วจึงประชุมวิสามัญตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาบริหาร
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มีคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ที่ 2/2561 ลง ณ วันที่ 2 เมษายน 2561 ให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 12 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และแต่งตั้งคณะกรรมการเป็นการชั่วคราวจำนวน 15 ราย เข้าไปบริหารงานแทนนั้น ล่าสุดทางคณะกรรมการชุดใหม่ได้มีการประชุมครั้งแรกแล้วเมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่เรื่องการเร่งรัดการดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกับคณะกรรมการชุดที่ 7-11 และการเข้าไปฟื้นฟูการดำเนินงานของสหกรณ์ให้ดีขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการทางด้านการเงินกลับมามีประสิทธิภาพ มีสภาพคล่องเพียงพอให้สมาชิกสามารถกู้เงิน และมีเงินไปชำระหนี้ให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ที่เข้ามาฝากเงินหรือปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์สโมสรรถไฟ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งทำงานให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นจึงมีการประชุมวิสามัญเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำเนินงานต่อไปได้
สำหรับการแก้ปัญหาเร่งด่วนทางคณะกรรมการชั่วคราวทั้ง 15 ราย ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 และตัวแทนสมาชิกสหกรณ์สโมสรรถไฟ จะเร่งรัดดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายคืน โดยเฉพาะวงเงินที่ได้มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก 6 ราย รวม 199 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 2,285.87 ล้านบาท เบื้องต้นอาจต้องนำที่ดินที่ทางสมาชิกทั้ง 6 รายได้จำนองไว้ หรือนำทรัพย์สินของสมาชิกมาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปคืนสหกรณ์สโมสรรถไฟส่วนหนึ่ง ซึ่งเงินที่ได้มานั้นจะสามารถนำไปช่วยเสริมสภาพคล่องให้ระบบสหกรณ์ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินของสมาชิกได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับการชำระหนี้เงินกู้ต่างๆ ให้กับเจ้าหนี้ได้ เพราะปัจจุบันทางสหกรณ์สโมสรรถไฟ มีเงิหมุนเวียนอยู่เพียงเดือนละ 55 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการชั่วคราว ยังต้องเจรจากับทางเจ้าหนี้ของสหกรณ์สโมสรรถไฟทั้งหมด 15 ราย เพื่อจัดทำตกลงเกี่ยวกับการชำระหนี้คืนให้กับสหกรณ์เจ้าหนี้ เช่น การกำหนดระยะเวลา หรือวงเงินว่าจะสามารถชำระเจ้าหนี้ได้เท่าไหร่ และเหลือวงเงินเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมาได้มีการหารอไปแล้ว 2 ครั้ง โดยผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้ขอให้ทางคณะกรรมการชุดใหม่ได้ไปจัดทำแผนฟื้นฟูฉบับใหม่มาก่อน แล้วจากนันจึงนัดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 18 เมษายน นี้ เพื่อตรวจสอบแผนฟื้นฟูและแนวทางการชำระเงินคืน จากนั้นจึงนัดกันอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 27 เมษายน นี้ เพื่อสรุปผลกาเจรจาให้เสร็จสิ้น
สำหรับภาพรวมของการดำเนินงานของสหกรณ์สโมสรรถไฟนั้น พบว่า มีทุนดำเนินงานทั้งหมดประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยวงเงินจำนวนนี้ เป็นเงินฝาก หรือเงินกู้จากสหกรณ์อื่น จำนวน 15 แห่ง คิดเป็นวงเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท เป็นเงินหุ้นสมาชิก 760 ล้านบาท เป็นเงินฝากของสมาชิก 280 ล้านบาท และในวงเงินนี้เป็นเงินที่ทางคณะกรรมการชุด นำไปใช้ปล่อยให้กู้ให้กับสมาชิกประมาณ 2,080 ล้านบาท อีกส่วนเป็นเงินที่ทางคณะกรรมการชุดเช่าปล่อยกู้ให้กับสมาชิก 6 รายเป็นเงินประมาณ 2,200 ล้านบาท ส่วนรายรับในแต่ละเดือนมาจากต้นเงินและดอกเบี้ยจากที่สมาชิกกู้ยืมเงินประมาณ 55 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ทางสหกรณ์ได้แบ่งไปจ่ายเจ้าหนี้ส่วนหนึ่งตามสัญญา จึงทำให้เหลือเงินหมุนเวียนเพียงเดือนละประมาณ 5-6 ล้านบาท มาปล่อยให้สมาชิกกู้เงิน จึงทำให้เกิดปัญหาทางด้านสภาพคล่อง
"ตอนนี้กรมฯ ได้สั่งการให้ทางสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 ติดตามการดำเนินงานของสหกรณ์สโมสรรถไฟทุกระยะอย่างใกล้ชิด ขณะที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ก็สั่งให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ ส่วนอีกเรื่องสำคัญก็อยากให้สมาชิกทั้งของสหกรณ์สโมสรรถไฟ และสมาชิกของสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้งหมด มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นกับการดำเนินงานของสหกรณ์และการแก้ปัญหาต่างๆ เพราะจากการตรวจสอบสถานะทางการเงินของสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้งหมดยังพบว่ามีสภาพคล่องที่ดี และมีปัญหา"
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ในแนวทางการควบคุมปัญหาดังกล่าวไม่ให้เกิดผลกระทบในภาพรวม ล่าสุดกรมฯ ได้สั่งการศูนย์วิเคราะห์ทางการเงินของกรมฯ แจ้งไปยังสหกรณ์ต่างๆ ให้รีบรายงานผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวนสอบดูว่ามีสหกรณ์ใดเอาไปให้ที่ไหนกู้บ้างแล้วให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าสหกรณ์ที่รับเงินกู้ เงินฝากไปแล้ว เอาเงินไปลงทุนอย่างไรต่อ เพื่อให้สหกรณ์ได้ดูแลลูกหนี้ตัวเองว่ามีความสามารถในการจ่ายหนี้คืนได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ และยังได้ไปยังสหกรณ์ทุกจังหวัดให้เข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของทุกสหกรณ์ และให้ส่งข้อมูลมาที่ส่วนกลางได้ตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง ขณะเดียวกันยังเตรียมกำกับดูแลสหกรณ์ให้ดำเนินงานเป็นไปตามมติของ ที่ประชุมครม. 7 มีนาคม 2560 ที่เห็นชอบให้นายทะเบียนสหกรณ์ออกเกณฑ์กำกับสหกรรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียน ให้สหกรณ์ระมัดระวังการให้กู้ยืมกัน โดยเกณฑ์นี้ได้กำหนดว่าจะเอาเงินของตัวเองไปฝากหรือกู้ได้ไม่เกิน 10% ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของตัวเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง