กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญสงครามเศรษฐกิจจากภายนอกและภายในประเทศ เป็นความเสี่ยงที่อาจฉุดจีดีพีปีนี้เติบโตไม่เท่าที่เคยคาดการณ์ ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศหลักๆ มาจากภาคการลงทุน ที่เกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง
สงครามเศรษฐกิจเก้าทิศ มีความเสี่ยงหลักมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่
สงครามทางทหาร ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีเหนือและตะวันออกกลาง และปรากฏการณ์ความตึงเครียดล่าสุดระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซีย กดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว และส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวน
สงครามการค้า สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อลดการขาด ดุลการค้ามหาศาล และอาจถูกตอบโต้จากประเทศคู่ค้า ทำให้การค้าโลกชะลอ กระทบการส่งออกไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่หลักๆจะเป็นทางอ้อม เพราะไทยเป็นห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐ จีน และประเทศอาเซียน
สงครามค่าเงิน สืบเนื่องจากสงครามการค้าทำให้หลายประเทศเศรษฐกิจชะลอ สหรัฐฯ ยูโรโซน หรือญี่ปุ่น พยายามทำค่าเงินตัวเองให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยผู้ส่งออก ซึ่งไทยและประเทศอื่นในอาเซียนก็ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากจากความไม่มั่นใจในสกุลเงินสำคัญ เงินจึงไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งไทยเป็นเหยื่อของสงครามค่าเงินและปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือลดการแข็งค่าของค่าเงินบาท กระทบผู้ส่งออก ส่วนผู้นำเข้าเองก็อาจชะลอนำเข้าเครื่องจักรเพื่อรอค่าเงินแข็งค่ากว่านี้
สงครามภาษี สหรัฐฯลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้กลับไปลงทุนในสหรัฐฯ ขณะที่ไทยเองก็ลดภาษีและสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนใน EEC ซึ่งอีกประเทศก็พร้อมแข่งกันลดภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือนักลงทุนต่างชาติ แต่ประเทศที่จะช่วงชิงนักลงทุนต่างชาติได้ต้องอาศัยมากกว่าภาษี เช่น แรงงานฝีมือ
โครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุน ถ้าไทยมุ่งแข่งเรื่องภาษี ไทยมีแต่จะแพ้
สงครามจิตวิทยา สิ่งที่ทรัมป์ทำตลอด 1 ปีกว่าที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จคือใช้วิธีการให้คนสับสน คู่ต่อสู้คาดเดาไม่ออก เพื่อบรรลุผลที่ตั้งใจไว้
สงครามการก่อการร้าย คล้ายสงครามทางทหารแต่คาดเดายากและจุดประสงค์เพื่อทำให้คนหวาดกลัว ส่งผลกดดันบรรยากาศการลงทุน การท่องเที่ยว ตลาดเงินผันผวนระยะสั้น
ขณะที่สงครามภายในประเทศประกอบด้วย
สงครามชนชั้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้เป็นการเติบโตบนความเหลื่อมล้ำ ผู้ได้ประโยชน์คือธุรกิจขนาดใหญ่ และคนรายได้ระดับกลางถึงบนขึ้นไป ขณะที่กลุ่ม SME และคนระดับฐานรากยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจ รายได้ภาคเกษตรยังตกต่ำ สะท้อนภาพความแตกต่างทางรายได้ของคนไทย เราอยากเห็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและกระจายตัวอย่างทั่วถึงมากกว่ามุ่งเน้นการเติบโตอย่างเดียว
สงครามวัย ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุแล้วและกำลังดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีผลให้การจัดสรรทรัพยากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุเกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่เราควรดูแลผู้สูงอายุโดยไม่ละทิ้งคนวัยเด็กและวัยเริ่มทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้กำลังจะแบกรับภาระทางภาษีเพื่อเลี้ยงดูคนสูงอายุในอนาคต เราควรเก็บภาษีให้เหมาะสมกับสวัสดิการแต่ละช่วงอายุ เริ่มกระตุ้นและให้แรงจูงใจคนวัยทำงานเริ่มออมเงินและลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยไม่ต้องพึ่งพาภาครัฐ
นอกจากนี้ การเข้าถึงเทคโนโลยีทำให้คนที่มีความสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทันจะสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตรวมถึงศักยภาพในหลายๆ ด้าน ทว่า เราจะทำอย่างไรให้คนระดับฐานราก ผู้ประกอบการ SME และผู้สูงอายุเรียนรู้เทคโนโลยีได้ทัน เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
สงครามกวาดล้างการทุจริต กระแสสังคมเรื่องการต่อต้านการทุจริตได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งการทุจริตในระบบราชการและภาคธุรกิจ แม้รัฐบาลจะมีความพยายามปราบคอรัปชั่นแต่ยังไม่สามารถกวาดล้างการทุจริตได้ เพราะเป็นปัญหาที่ก่อตัวฝังรากแน่น เป็นเนื้อร้ายเกาะกินสังคมและเศรษฐกิจไทย ตราบใดที่การทุจริตคอรัปชั่นยังดำเนินไป ทรัพยากรจะไม่สามารถกระจายตัวไปสู่ประชาชนที่ต้องการเม็ดเงินเหล่านั้นตามโครงการต่างๆ ได้ นโยบายภาษีเพื่อกระจายรายได้ก็ไม่เกิด เพราะเม็ดเงินถูกดูดเข้าสู่คนไม่กี่คน ไม่กี่กลุ่ม ทำให้สังคมแห่งความเหลื่อมล้ำดำเนินต่อไป และกดดันศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
จากกระแสข่าวความเป็นไปได้ที่จะเลื่อนการเลือกตั้งในปี 2561 ออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งจากงานแถลงข่าวเดือนธันวาคมปีก่อน สำนักวิจัยประมาณการว่าหากไม่มีการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในกรอบ 3.5-3.8% ประกอบกับมองว่าสงครามเศรษฐกิจทั้งเก้าปัจจัยกำลังรุมเร้า สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จึงได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 2561 ไว้ที่ 3.7% จากเดิม 4% อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯยังเชื่อมั่นในเทฟลอนไทยแลนด์ หรือภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความทนทานต่อปัจจัยที่จะเข้ามากระทบ จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปชะลอลงต่ำกว่า 3% และหวังว่าถ้าปัญหาได้รับการแก้ไข โอกาสที่จะได้เห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตเหนือ 4% ยังมีอยู่ ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภคว่านโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจต่างๆ จะถูกสานต่อไปยังรัฐบาลชุดต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก อีกทั้งสามารถเร่งกระจายรายได้ สร้างการเติบโตทางกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับฐานรากโดยไม่บิดเบือนกลไกตลาด แม้จะเป็นโจทย์ยาก แต่เรายังหวังว่าท้ายสุดรัฐบาลจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อท้าทายปัญหาทั้งนอกและในได้
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มเติบโตจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยวเป็นหลักเช่นเดิม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังโตช้า ผู้บริโภคชะลอรอดูสถานการณ์ความชัดเจนก่อนใช้จ่ายสินค้าคงทน นักลงทุนต่างชาติยังขาดความเชื่อมั่นในด้านความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ จากแนวโน้มเลื่อนการเลือกตั้งจากปีนี้ ขณะที่ภาครัฐดำเนินการโครงการขนาดใหญ่และเบิกจ่ายไม่ได้เร่งไปกว่าที่คาดการณ์
นอกจากนี้ คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรและกลุ่มSME โดยเฉพาะในต่างจังหวัดยังฟื้นตัวช้า และอาจทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยชะลอลงได้
ด้านความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปลายปีก่อนเป็นการแข็งค่าชั่วคราว คาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00 - 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า ปัจจัยสำคัญคือความไม่แน่นอนของทิศทางการคลังสหรัฐ แม้ตลาดคาดการณ์ว่าปีนี้เฟดจะปรับขึ้นดอก เบี้ยสหรัฐ 3 ครั้ง เดือนมีนาคม มิถุนายน และธันวาคม ซึ่งน่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดให้เงินดอลลาร์ แต่ด้วยบรรยากาศของความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลังสหรัฐและสงครามการค้า ทำให้คนยังไม่เชื่อมั่นดอลลาร์สหรัฐ จึงคาดว่าเงินจะไหลเข้าประเทศตลาดเกิดใหม่ แต่เมื่อใดทิศทางการคลังสหรัฐและการค้ามีความชัดเจน คนจะกลับไปให้น้ำหนักกับดอกเบี้ยสหรัฐมากขึ้น และมีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ จึงอาจเห็นค่าบาทอ่อนค่าไปแตะ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ในสิ้นปี
ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ1.5% โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดมีมติคงดอกเบี้ยด้วยคะแนนเสียงโหวต 6 คนให้คงดอกเบี้ยและมี 1 คนโหวตให้ขึ้นดอกเบี้ย แต่มองว่าเร็วไปที่กนง.ส่วนใหญ่จะขึ้นดอกเบี้ย จึงคาดว่าดอกเบี้ยจะคงที่ 1.5% ทั้งปี อย่างไรก็ดี ปลายปีจะเห็นแรงกดดันการขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้น จากปัจจัยเงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโต ประกอบกับเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม จากปริมาณสภาพคล่องในตลาดยังมีมาก รอเศรษฐกิจเติบโตทั่วถึงก่อนค่อยปรับขึ้นดอกเบี้ยไตรมาสแรกปีหน้าก็ยังไม่สาย แต่ผลข้างเคียงของการคงดอกเบี้ยต่ำไว้นานคือนักลงทุนอาจโยกเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกินตัวระหว่างรอสัญญาณจากกนง. ดังนั้น เราอยากเห็นกนง.ส่งสัญญาณบางอย่างให้ชัดเจนซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบ