กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--
โบรกฯ ประสานเสียง มองทางเทคนิคหุ้น SPPT มีโอกาสไปต่อ มีลุ้นเจอกันที่แนวต้าน 5.20- 5.45 บาท หลัง 5 วันทำการทะยานแล้วกว่า 42% ฟาก "ดร.ปกรณ์" ลุยแตกไลน์ธุรกิจใหม่ แย้มอยู่ระหว่างเจรจา มั่นใจผลงานปี 61 โตก้าวกระโดด
บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์หุ้น บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT ว่า สัญญาณทางเทคนิคราคาหุ้น SPPT ระยะสั้นปรับตัวขึ้นแบบ V shape และราคาดีดตัวปิดเหนือเส้น EMA 10 วัน พร้อมกับเครื่องมือ RSI +MACD ชี้ขึ้นสนับสนุนเป็นสัญญาณซื้อ จึงคาดว่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้โดยประเมินแนวรับ 4.94 บาท ส่วนแนวต้าน 5.20-5.45 บาท ขายตัดขาดทุน 4.90 บาท
ขณะที่ บทวิเคราะห์ จากบล.เคทีบี ระบุว่า กราฟที่แสดงปัจจุบัน ราคาขึ้นมาพอสมควรแล้ว แต่การขึ้นต่อนั้น เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยปริมาณการซื้อขายที่ยังหนาแน่นต่อเนื่อง อีกทั้งสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้มที่กลับเข้าสู่ขาขึ้นเพิ่งเริ่มต้น มีเป้าหมายแรกที่ 5.20 บาท คำแนะนำ : "ซื้อเก็งกำไร" แนวรับ 4.88-4.96 บาท แนวต้าน 5.20-5.35 บาท
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว ราคาหุ้น บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT ช่วง 5 วันทำการ พบว่าราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาปิด ณ วันที่ 30 มี.ค. 2561 ที่ระดับ 3.72 บาท และทำราคาสูงสุด วันที่ 5 เม.ย. 2561 ที่ระดับ 5.30 บาท เพิ่มขึ้น 1.58 บาท หรือ 42.47%
ด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินแผนขยายธุรกิจ ด้วยการลงทุนด้านธุรกิจไอทีเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยเน้นความคุ้มค่าเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดคงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจา
" มีหลายดีลที่เรากำลังมีการเจรจาและศึกษา ทั้งแนวทางการเข้าซื้อหรือร่วมทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจไอที ซึ่งหากมีความชัดเจนจะแจ้งให้ทราบอย่างแน่นอน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะขยายฐานรายได้ของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทฯเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมั่นคง สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งตั้งแต่ที่เราเริ่มมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในปีที่ผ่านมา แนวโน้มทิศทางผลประกอบการก็ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถประเมินในเบื้องต้นได้ว่าในปี 2561 นี้ผลประกอบการจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไม่ยาก " ดร.ปกรณ์กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ SPPT ขายธุรกิจโรงงานผลิต HDD ที่ขาดทุนออกไป จากนั้นเข้าลงทุนธุรกิจด้านไอทีเพิ่มเติมอีก ด้วยการเข้าซื้อหุ้น บริษัท เทอร์ราไบท์ เน็ท โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) (TERA) เพื่อขยายไลน์ธุรกิจสู่ธุรกิจวางระบบและให้บริการด้านไอที จากนั้น ได้จัดตั้งบริษัทย่อย 2 บริษัท คือ 1. บริษัท เอสพีพี อินเทลลิเจนซ์ ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการแพลทฟอร์มด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ ให้กับผู้ประกอบการด้านขนส่ง และ 2.บริษัท เอสพีพี ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้บริการ แพลทฟอร์ม ด้าน FinTech สำหรับให้บริการทางการเงินครบวงจร