กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนหัวข้อ "เทศกาลวันสงกรานต์" จากกลุ่มตัวอย่าง 3,075 คน ในทุกภูมิภาค ผลสำรวจถามว่าเมื่อพูดถึง "วันสงกรานต์" เด็ก เยาวชน และประชาชนจะนึกถึงสิ่งใด ร้อยละ 75.79 ระบุเล่นน้ำสงกรานต์ รองลงมาร้อยละ 64.44 รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ร้อยละ 54.39 วันขึ้นปีใหม่แบบไทย ร้อยละ 46.98เทศกาลหยุดยาว และร้อยละ 39.35 การเดินทางกลับภูมิลำเนา ส่วนกิจกรรมที่เด็ก เยาวชนและประชาชน จะทำช่วงเทศกาลสงกรานต์มากที่สุด ร้อยละ 69.93 ทำบุญตักบาตร รองลงมาร้อยละ 64.26 สรงน้ำพระ ร้อยละ 58.56 รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ร้อยละ 45.53 เล่นน้ำสงกรานต์ และร้อยละ 41.11 พบปะสังสรรค์กับครอบครัวและญาติพี่น้อง
นายวีระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ผลสำรวจพบว่า บุคคลที่เด็ก เยาวชน และประชาชน ต้องการรดน้ำหรือสาดน้ำสงกรานต์มากที่สุด 5 อันดับแรก อันดับ 1 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อันดับ 2 "โป๊ป" ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ อันดับ 3 "เบลล่า" ราณี แคมเปน อันดับ 4 ผู้ว่าราชการจังหวัด อันดับ 5 ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ ส่วนกิจกรรมที่เด็ก เยาวชน และประชาชน จะต้องช่วยอนุรักษ์และสืบทอดในเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ร้อยละ 74.87 ทำบุญ ตักบาตร เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต รองลงมาร้อยละ 64.28 สรงน้ำพระ ขนทรายเข้าวัดเพื่อก่อพระเจดีย์ทราย ร้อยละ 61.08 เล่นน้ำ สาดน้ำแบบสุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับกาลเทศะตามประเพณีโบราณไทย ร้อยละ 36.35 แต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าขาวม้า ผ้าประจำถิ่น และร้อยละ 29.97 เตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มชุดใหม่ไว้เพื่อไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ หรือสวมใส่หลังการรดน้ำขอพร
ทั้งนี้สถานที่ที่เด็ก เยาวชนและประชาชน อยากไปเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุด ได้แก่ บ้านเกิดหรือภูมิลำเนาตัวเอง รองลงมา กรุงเทพมหานคร อาทิ ถนนข้าวสาร ถนนสีลม สยามสแควร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ คิงพาวเวอร์ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สวนสันติชัยปราการ สวนลุมพินี เอเชียทีคเดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์และล้ง1919 ส่วนต่างจังหวัด จ.เชียงใหม่ อาทิ คูเมือง ประตูท่าแพแหล่งท่องเที่ยวที่ติดทะเล อาทิ บางแสน พัทยา ชะอำ หัวหิน หาดป่าตอง และ จ.พระนครศรีอยุธยา อาทิ รอบเกาะเมือง อุทยานประวัติศาสตร์ วัดไชยวัฒนาราม เป็นต้น
จากการสอบถามว่า วิธีใช้น้ำอย่างคุ้มค่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่าเด็ก เยาวชน และประชาชน ตอบว่าอันดับ 1 เล่นน้ำสงกรานต์อย่างสุภาพ ไม่ใช้น้ำสกปรก น้ำเย็นจัด หรือใช้น้ำปนน้ำแข็งสาดเล่นกัน อันดับ 2 เล่นสาดน้ำเฉพาะพื้นที่ที่จัดไว้ให้ อันดับ 3 ใช้ขันน้ำขนาดเล็ก ปะพรมหรือสาดน้ำกัน อันดับ 4 ใช้ปืนฉีดน้ำขนาดเล็กแทนอุปกรณ์ฉีดน้ำที่มีแรงดันสูงหรือสายยาง และอันดับ 5 เล่นสาดน้ำในระยะเวลาที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงวิธีการหรือมาตรการที่จะลดการเสียชีวิต การบาดเจ็บ และลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อันดับ 1 บอกว่า รักษาวินัยจราจร ขับขี่ปลอดภัย มีน้ำใจในการใช้รถใช้ถนน รองลงมา งดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ/พื้นที่ควบคุมการเล่นน้ำ ไม่ดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัด พื้นที่จัดงานหรือพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งรณรงค์การแต่งกายอย่างเหมาะสม ถูกกาลเทศะ ไม่โป๊ไม่เปลือย ไม่แป้ง และงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะเวลาที่ห้าม หรือตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด
นายวีระ กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามว่าวิธีที่จะทำให้เด็กรุ่นใหม่หรือชาวต่างชาติเข้าใจถึงความสำคัญในเทศกาลสงกรานต์ของไทย กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ควรพูดคุย อธิบาย แนะนำ เพื่อให้เห็นความสำคัญ พร้อมทั้งเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรม การอบรม ปลูกฝังและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูกหลานจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียเพื่อกระตุ้นการรับรู้และตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญของเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงจัดพิมพ์หนังสือ "ประเพณีสงกรานต์" เพื่อเผยแพร่ความหมาย คุณค่า และสาระของประเพณีสงกรานต์ พร้อมทั้งเสนอแนะข้อควรปฏิบัติที่คนไทย/ต่างชาติควรจะนำไปประพฤติปฏิบัติต่อกัน
นอกจากนี้ได้สอบถามว่า ภาครัฐและ วธ. ควรจัดกิจกรรมพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ต้องการให้รณรงค์ให้ประชาชนแต่งกายสุภาพ แต่งกายด้วยผ้าไทย ผ้าขาวม้า และผ้าประจำถิ่น และจัดกิจกรรมประกวดแต่งไทยย้อนยุค อีกทั้งบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชนและประชาชน รวมถึงมีการละเล่นย้อนยุค อาทิ งูกินหาง ปิดตาตีหม้อ มอญซ่อนผ้า สะบ้า ขี่ม้าส่งเมือง ลิงชิงหลัก เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีไทยไม่ให้สูญหาย