แบงก์เกษตรโลกร่วมลงปฏิญญาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างระบบที่ดีที่สุดสู่ภาคเกษตรกรรม

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 2, 2007 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ธ.ก.ส.ชูปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีการประชุมสินเชื่อเกษตรและชนบทโลก ระบุสมาชิกจาก 5 ทวีปกว่า 120 ประเทศสนใจนำไปปรับใช้ พร้อมนำแบบอย่างด้านการบริหารความเสี่ยง การบริหารความสามารถ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศที่ประสบความสำเร็จมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรไทย เผยปฏิญญาร่วมหลังการประชุมเน้นการร่วมสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อสร้างระบบการบริการทางการเงินที่ทันสมัยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
นายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส.ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสินเชื่อเกษตรและชนบทโลก ครั้งที่ 2 (The Second World Congress on Agricultural and Rural Finance) โดยมีสมาชิกประกอบด้วย ผู้แทนสถาบันการเงิน องค์กรพัฒนาด้านการเกษตรและชนบทชั้นนำกว่า 1,000 คน จาก 5 ทวีป จำนวนกว่า 120 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม — 2 พฤศจิกายน 2550 ณ หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานครนั้น
ผลการประชุม ประเทศสมาชิกได้ให้ความสนใจในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานแก่คนไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยต่างก็ชื่นชมถึงพระอัจฉริยภาพ และตั้งใจที่จะนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้กับงานพัฒนาชนบทในประเทศของตนเอง ส่วนสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การสร้างระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด มาปรับใช้กับการพัฒนาด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการขยายการบริการสินเชื่อที่หลากหลายทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนยากจนในชนบทเข้าถึงบริการทางการเงิน การส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร การสร้างความรู้ ทักษะการบริหารจัดการ เพื่อให้รู้เท่าทันปัญหาและสามารถแก้ไขได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญคือทุกประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดวาระเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ
ในวงกว้างด้วยการกำหนดนโยบายเรื่องการลดอุณหภูมิโลก เช่น การหาวิธีการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ การรณรงค์และจูงใจให้มีการปลูกต้นไม้ การจัดหาแหล่งน้ำใหม่ๆ การกำหนดวิธีการเพื่อให้ค่าตอบแทนแก่ผู้รักษาต้นไม้ในระดับสากล
นอกจากนี้ผู้แทนจากภาคพื้นทวีปยุโรป (CICA) ยังได้เสนอให้นำข้อมูลทางด้านภูมิอากาศจากดาวเทียมมาใช้ในการคาดคะเนและลดภัยพิบัติจากธรรมชาติ รวมถึงการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามตรวจสอบเรื่องการใช้ที่ดิน การวางแผนป้องกันภัยธรรมชาติ และการสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ส่วนผู้แทนจากสมาคมสินเชื่อชนบทแห่งละตินอเมริกา (ALIDE) ได้นำเสนอแนวทางการจัดการกับบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดมาตรการที่เข้มแข็งและหนักหน่วงกว่าเดิมควบคู่ไปกับการใช้มาตรการจูงใจ เพื่อให้หันมาร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างจิตสำนึกทางสังคมอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของ
ทุกฝ่าย
สำหรับปฏิญญาการประชุมที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 5 ข้อ กล่าวคือ 1. การใช้นโยบายเชิงกลยุทธ์และโครงการต่างๆเพื่อเพิ่มความสามารถของภาคการเกษตรให้ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของความมั่นคงและความพอเพียงด้านอาหาร โดยการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. การประสานความเชื่อมโยง การมีส่วนร่วม และการติดต่อสื่อสารอย่างสม่ำเสมอระหว่างองค์กรให้สินเชื่อในภาคการเกษตรและสถาบันการเงินขนาดย่อม 3. การขยายและการปรับปรุงความสามารถในการเสริมสร้างและกิจกรรมการฝึกอบรมที่ให้ผู้ยากไร้เอาชนะความเปราะบางจากวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติและวิกฤตการณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น 4. การใช้ประโยชน์จากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีทางด้านอวกาศและดิจิตอล เพื่อพัฒนาระบบการเงินในภาคการเกษตรและภาคชนบท 5. ทบทวนและจัดโครงสร้างกรอบการดำเนินงานด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ที่จะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
เพื่อเสริมสร้างกระแสทางด้านการเงินและบริการต่างๆที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาคการเกษตรและภาคชนบท
การจัดประชุมในครั้งนี้ ได้บทสรุปในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสิ่งที่แต่ละประเทศดำเนินการจนประสบความสำเร็จและสามารถนำไปเป็นแบบอย่างได้ นอกจากนั้นยังรับทราบถึงปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละทวีป เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือซึ่งกันและกันในโอกาสต่อไป โดยทุกประเทศมุ่งหวังว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆจะนำไปสู่มิติแห่งการดูแลภาคเกษตรกรรมและชนบทอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความสมดุลด้านอาหาร-ประชากร-ทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ