กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "แต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำในวันสงกรานต์" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2561 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน ทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำใน วันสงกรานต์ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.96 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย แสดงถึงความเป็นไทย และอยากให้ชาวต่างชาติได้เห็นถึงวัฒนธรรมไทยอย่างแท้จริง เป็นประเพณีไทยที่มีมาแต่โบราณ และดูเรียบร้อย สวยงาม รองลงมา ร้อยละ 14.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ชุดไทยเป็นชุด ที่มีเกียรติจะใส่มาเล่นน้ำดูไม่เหมาะสม เคลื่อนไหวลำบาก ไม่สะดวก มีราคาค่อนข้างแพง ดูสิ้นเปลือง และกลัวชุดพังเพราะโดนน้ำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า การเล่นน้ำของเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยเหมาะกับชุดไทยผ้าไทย เท่าไหร่นัก และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความต้องการ/อยากแต่งชุดไทย ผ้าไทย ไปเล่นน้ำสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.24 ระบุว่า อยากแต่ง เพราะ เป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย สืบสานประเพณีไทย ดูดีมีเอกลักษณ์ เรียบร้อย สวยงาม และจะได้เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลัง รองลงมา ร้อยละ 33.44 ระบุว่า ไม่อยากแต่ง เพราะ ไม่สะดวก ไม่คล่องตัว ยุ่งยาก ไม่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทยที่ค่อนข้างร้อน ชุดมีราคา ค่อนข้างแพง หาซื้อยาก ใส่ชุดธรรมดาสะดวกสบายกว่า ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่กล้าใส่ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงข้อเสนอที่จะให้ภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยรณรงค์ การแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์ พบว่า ข้อเสนอที่จะให้ภาครัฐ ช่วยรณรงค์ การแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.40 ระบุว่า ปลูกจิตสำนึกและค่านิยมให้เยาวชนประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมไทย รองลงมา ร้อยละ 48.88 ระบุว่า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาใส่ชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์อย่างทั่วถึง ร้อยละ 35.36 ระบุว่า ให้หน่วยงานภาครัฐจัดกิจกรรมประกวดการแต่งชุดไทย ผ้าไทย ในวันสงกรานต์ ร้อยละ 30.40 ระบุว่า ให้ดารา นักร้อง หรือคนที่มีชื่อเสียงร่วมรณรงค์แต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 28.56 ระบุว่า รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแต่งกายด้วยชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์ ร้อยละ 23.20 ระบุว่า จัดงานหรือกิจกรรมที่มีบรรยากาศย้อนยุคเอื้อต่อการแต่งชุดไทย เช่น งานอุ่นไอรักคลายความหนาว ร้อยละ 16.40 ระบุว่า ให้ประชาชนที่แต่งชุดไทยสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุทยานประวัติศาสตร์ได้ฟรี ร้อยละ 0.48 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ให้ภาครัฐแจกชุดไทย ผ้าไทย ให้แก่ประชาชน และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ในสำหรับข้อเสนอที่จะให้ภาคเอกชน ช่วยรณรงค์ การแต่งชุดไทย ผ้าไทย เล่นน้ำสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.96 ระบุว่า ส่งเสริมให้มีการจำหน่ายชุดไทยในราคาที่เหมาะสม หาซื้อง่าย ออกแบบให้สามารถสวมใส่ได้ง่าย รองลงมา ร้อยละ 39.04 ระบุว่า ให้เอกชนร่วมสนับสนุนจัดกิจกรรม จัดการประกวดส่งเสริมการแต่งชุดไทย ผ้าไทย ในพื้นที่ต่าง ๆ ร้อยละ 38.48 ระบุว่า ให้เอกชนช่วยโฆษณา รณรงค์ กระตุ้นให้คนไทยและชาวต่างชาติแต่งชุดไทย ผ้าไทย ร้อยละ 37.12 ระบุว่า จัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ให้แก่ผู้แต่งชุดไทย ผ้าไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และร้อยละ 5.28 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.36 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.84 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.44 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.96 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.36 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.64 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 8.96 มีอายุไม่เกิน 25 ปี ตัวอย่างร้อยละ 16.08 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.12 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 32.48 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 19.68 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 92.32 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.36 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.12 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.20 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 24.48 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 68.16 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.92 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 27.68 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.92 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.72 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.36 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.08 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.24 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.88 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.60 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.96 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.32 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 14.40 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.12 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 4.24 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 4.40 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 17.68 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 19.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.60 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.68 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.08 ไม่ระบุรายได้