กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--
บริษัทหลักทรัพย์ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ (ประเทศนิวซีแลนด์) มองทิศทางค่าเงินบาทไทยปีนี้ยังโดดเด่นสุดในแถบเอเชีย แม้คาดการณ์ธนาคารแห่งประเทศไทยคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง แต่พบสัญญาณเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทย แทนการไหลเข้าสู่ตลาดหุ้น หลังพบความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นจากแรงกดดันด้านการค้า จีน-สหรัฐ มองทิศทางการเคลื่อนไหวเงินบาทยังแข็งค่าที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เหตุได้แรงหนุนจากเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ เชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่กดดันค่าเงินบาท ส่วนตลาดหุ้นไทยคาดการณ์ปีนี้ยืนที่ 1,650 จุด
มร.มาริโอ้ ซิงห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟูลเลอร์ตัน มาร์เก็ตส์ (ประเทศนิวซีแลนด์) ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก และผู้แต่งหนังสือ "สุดยอดความลับแห่งความสำเร็จของนักเทรดระดับโลก" หนังสือที่ได้รับการตอบรับจากนานาประเทศทั่วโลก เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ด้านการลงทุนในประเทศไทยว่าในปี 2561 ค่าเงินบาทของไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดในบรรดาสกุลเงินในเอเชีย เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีขนาดใหญ่และแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น ปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะขยายไปสู่ช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เป็นอย่างน้อย หลังจากหลายปีของการเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ล้าหลังทางเศรษฐกิจ ในที่สุดก็คืนกลับมาสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการค้าโลกและการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น ค่าเงินบาทยังไม่แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของเงินเฟ้อแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงรักษานโยบายไว้ในระดับต่ำ การเติบโตของการส่งออกของไทยมีความแข็งแกร่งซึ่งช่วยกระตุ้นการผลิต อย่างไรก็ตามความต้องการภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงซบเซา สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การค้าเกินดุลซึ่งมีส่วนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ยังพบสัญญาณด้านเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าสู่ประเทศไทยในปีนี้มีแนวโน้มไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10ปี ของประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จากทั้งหมด 15 ประเทศ มี 4 ประเทศผลตอบแทนนั้นดีที่สุด และประเทศไทยคือ 1 ใน 4 ของประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินทุนไหลสู่ตลาดตราสารหนี้นั้นส่วนหนึ่งมาจาก ธนาคารแห่งประเทศไทยคงอัตราดอกเบี้ยต่ำไว้ไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะงักลงและดึงให้เศรษฐกิจของภาคการส่งออกชะลอตัว เราคาดว่าในปี 2561 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเช่นเดิม ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยไว้มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนของไทย โดยในทางทฤษฎี ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์เมื่อปี 2558-2559 เหตุผลหลักอย่างหนึ่ง เนื่องจากส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตร จีน-สหรัฐ นั้นกว้างขึ้นในช่วงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เราพบว่าส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตร ไทย-สหรัฐ นั้นกว้างขึ้นในขณะเดียวกันค่าเงินบาทกลับแข็งค่าขึ้น สิ่งนี้ดูแปลกมากและสวนทางกับทฤษฎีพื้นฐานที่ว่าหากส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรกว้างขึ้นมันควรส่งผลด้านลบกับค่าเงินบาท ถ้าไม่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นไปได้ว่ามีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้และนั่นเป็นตัวสนับสนุนค่าเงินบาท
นอกจากนี้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ลอยตัวอยู่ในราวๆระดับสูงสุดของประวัติศาสตร์ ซึ่งนั่นบอกเป็นนัยๆว่ายังคงมีความต้องการอย่างสูงอันสอดคล้องกันของนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่มีต่อสินทรัพย์อื่นๆในประเทศไทย เห็นได้จากการที่เงินจากต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยยังคงมีมาไม่ขาดสาย และการลงทุนต่างๆภายในประเทศเพื่อเข้าสู่ตลาดทุนของไทยจำนวนมากนั้นอาจเข้าไปยังตลาดตราสารหนี้ได้ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยเริ่มมีความเสี่ยงจากภาวะความตึงเครียดด้านการค้าจีน-สหรัฐ อันมาจากมาตรการภาษีของทรัมป์ ดังนั้นตลาดตราสารหนี้ของไทยถือได้ว่ายังคงอยู่ในจุดที่เป็นดาวเด่น เพราะจากข้อมูล ในไตรมาสแรกของปีนี้เงินที่ไหลออกจากหุ้นไทยนั้นมากเป็นอันดับสามของตลาดหลักในเอเชีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วไหลออกเป็นจำนวน 95 ล้านเหรียญและจะแตะ 1.8 พันล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม เงินที่ไหลเข้าสู่ตราสารหนี้นั้นสูงมากเป็นอันดับสามของตลาดหลักๆในภูมิภาคเช่นกัน
มร. มาริโอ้ กล่าวอีกว่าคาดการณ์ว่าในปีนี้ธนาคารกลางทั่วโลก เตรียมพร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นปกติหลังจากที่คงไว้ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดแรงดึงดูดใจต่อนักลงทุนชาวต่างชาติเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ของไทย เพราะในส่วนหุ้นระดับภูมิภาครวมถึงหุ้นไทยนั้นยังคงพบว่ายังเป็นไปได้ยากที่ราคาจะดีดตัวกลับอย่างมีนัยยะสำคัญ ความไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีน กับ สหรัฐ ไม่เพียงแต่จะเพิ่มแรงถ่วงต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงและกระตุ้นให้เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย โดยคาดว่าปีนี้ตลาดหุ้นไทยจะยืนอยู่ในระดับ 1,650 จุด
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าเงินบาทนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะสกุลเงินบาทยังเป็นสกุลที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ความเสี่ยงที่ต่ำ ประเทศไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง อีกทั้งการกำหนดนโยบายอัตราดอกเบี้ยอาจไม่เป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินค่าเงินบาท แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า แต่ยังมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ที่เป็นตัวสนับสนุนค่าเงินบาท