กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบเปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภคและอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 61 - 63 ภายใต้ WTO ปริมาณ 230,559 ตัน โดยภาษีในโควตาร้อยละ 10 นอกโควตาร้อยละ 133 ระบุ ผู้นำเข้ากากถั่วเหลืองเฉพาะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภค จะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทาง
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชว่า ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบสรุปมติคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2560 และเห็นชอบให้เปิดตลาดสินค้ากากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเพื่อมนุษย์บริโภคและกากถั่วเหลืองที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ปี 2561 - 2563 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ
สำหรับผลการประชุมของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 3/2560 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เปิดตลาดและบริหารการนำเข้าสินค้ากากถั่วเหลือง ตามที่ผูกพันภายใต้ WTO ปริมาณ 230,559 ตัน/ปี ภาษีในโควตาลดลงจากที่ผูกพัน ร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 ส่วนภาษีนอกโควตาร้อยละ 133 และให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับปี 2560 คือ เป็นนิติบุคคลที่ใช้กากถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตในกิจการของตนเอง และให้นำเข้าเฉพาะด่านศุลกากรที่มีด่านพืช และด่านอาหารและยา เท่านั้น
ในส่วนของผู้นำเข้ากากถั่วเหลือง เฉพาะที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเพื่อมนุษย์บริโภค จะต้องแสดงใบรับรอง Non-GMO จากประเทศผู้ผลิตต้นทางประกอบการนำเข้า ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรรโควตา กำหนดให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด ซึ่งเป็นการเปิดตลาดและบริหารนำเข้าคราวละ 3 ปี หลังจากที่ได้แยกพิกัดสินค้ากากถั่วเหลืองออกเป็น 3 รหัสย่อย ในปี 2560 คือ 1) เพื่ออาหารสัตว์ 2) เพื่อมนุษย์บริโภค และ 3) เพื่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ในส่วนของพิกัดเพื่อมนุษย์บริโภค และเพื่ออุตสาหกรรมอื่นๆ นับได้ว่าเปิดเป็นปีแรกใน ปี 2560 เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบเพียงพอต่อความต้องการใช้
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบการบริหารการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2561 ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) และกรอบการค้าอื่น โดยมีผู้มีสิทธินำเข้าจำนวน 6 สมาคม 18 บริษัท และผู้มีสิทธินำเข้าจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด ส่วนการบริหารการนำเข้าน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้ง และน้ำมันมะพร้าว ปี 2561 ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับปี 2560 โดยที่หลักเกณฑ์การจัดสรรโควตาให้เป็นไปตามที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด และให้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ในการนำเข้ามาเพื่อใช้ในกิจการของตนเอง ห้ามนำไปจำหน่ายต่อ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองของไทยที่ลดลง และความต้องการใช้ถั่วเหลือง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยแนวโน้มการผลิตในประเทศได้มุ่งเน้นการผลิตถั่วเหลืองคุณภาพดีเพื่อใช้ในการแปรรูปอาหาร ซึ่งคาดว่าความต้องการเพื่อแปรรูปอาหารจาก 89,776 ตันในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 115,494 ตันในปี 2564 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.50 ต่อปี) ดังนั้น คณะอนุกรรมการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 เห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์ถั่วเหลืองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ปี 2561 – 2564 ด้วยวิสัยทัศน์ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลือง สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มแปรรูปอาหาร อาหารสัตว์และสกัดน้ำมัน เพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางด้านอาหารในประเทศอย่างยั่งยืน