กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ เผยความคืบหน้างานสำคัญ แย้มเตรียมร่วมเป็นสมาชิก OECD ทั้งยังชวนเข้ามา จัดประชุมใหญ่ในไทย ในส่วนของ Big Data หน่วยงานรัฐเร่งการจัดเก็บข้อมูล พร้อมเข้าหารือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ร่วมส่งทีมออกแบบสถาปัตยกรรม Big Data แห่งชาติ ด้านกฎหมาย 2 ฉบับสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... เตรียมเสนอเข้า ครม. หลังทำงานร่วมกับกฤษฎีกามาตลอด ส่วนการจัดตั้ง NBN และ NGDC แต่งตั้งคณะทำงานร่วมทุกภาคส่วนขับเคลื่อนตามขั้นตอน ในด้าน "เน็ตประชารัฐ" เฟส 2 เตรียมใช้งบประมาณที่เหลือจากเฟส 1 มาดำเนินการต่อหลัง ครม.เห็นชอบ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ของกระทรวงดิจิทัลฯ ว่า ช่วงที่ผ่านมาองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้ทำความร่วมมือกับไทยในโครงการ Country Programme โดยไทยต้องการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับ OECD ในการขับเคลื่อนการพัฒนาและปฏิรูปประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยโครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของไทยในอนาคต เกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนในการเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งไทยยังได้เชิญ OECD เข้ามาจัดประชุมในประเทศไทยอีกด้วย
ในส่วนของการดำเนินการด้านการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งขณะนี้หลายๆ หน่วยงาน ทั้งระดับกระทรวง กรม เริ่มจัดทำข้อมูล Big Data กันมากขึ้น จากดำริของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกหน่วยงานเร่งวางขั้นตอนในการทำ Big Data โดยให้ทุกหน่วยงานวางแผนให้ครอบคลุมการเก็บข้อมูล รวมถึงการใช้ Big Data โดยศึกษาแนวทางของต่างประเทศให้ครบทุกมิติ และหน่วยงานใดมีความพร้อมก็เริ่มนำมาใช้ก่อน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการดำเนินการอยู่แล้วทำให้สามารถนำออกมาใช้ได้ รวมถึงกระทรวงยุติธรรมที่มีการจัดเก็บเรื่องอัตลักษณ์บุคคล ก็เริ่มมีการนำออกใช้เป็นข้อมูลแล้ว นอกจากนี้ รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้มีการพูดคุยกับอธิการบดีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ช่วยส่งทีมร่วมออกแบบและจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ดังกล่าว
สำหรับความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. .... กระทรวงดิจิทัลฯได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะสามารถส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเมื่อร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ผ่าน ครม. แล้ว ก็สามารถส่งต่อเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้
ด้านการจัดตั้งบริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (NBN) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC) บริษัทลูกของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี รวมถึงแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีข้อห่วงใยของกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานของ บมจ.ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจของทั้ง 4 บริษัท มีความเข้มแข็งในระยะยาว กระทรวงดิจิทัลฯ จึงได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณารายละเอียดด้านต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธานคณะทำงาน และประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ด้านเทคนิค ด้านการบริหารจัดการ และด้านการบริหารบุคคล ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนจากคณะกรรมการของทั้ง 4 บริษัท กรรมการผู้จัดการใหญ่ของทั้ง 4 บริษัท ผู้แทนสหภาพ TOT และ CAT ผู้แทนพนักงานของ TOT, CAT, NBN และ NGDC ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อให้การดำเนินงานของทั้ง 4 บริษัท ให้เป็นไปอย่างราบรื่น
ทั้งนี้ สำหรับความคืบหน้าของโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ "เน็ตประชารัฐ" เฟสที่ 2 จำนวน 15,732 หมู่บ้าน ที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการนั้น จะมีการนำงบประมาณที่เหลือจากการดำเนินการในเฟสที่ 1 ที่ติดตั้งแล้วเสร็จครบ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มาดำเนินการในเฟสที่ 2 ต่อ ซึ่งมีงบเหลือประมาณ 2,600 ล้านบาท โดยจากการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในเฟสแรกที่มีการเดินสายได้อย่างครอบคลุม ทำให้การดำเนินงานเฟสที่ 2 ไม่จำเป็นต้องเดินสายโครงข่ายใหม่ ซึ่งช่วยลดอุปสรรคในการทำงานได้ ในส่วนของโครงการอบรมหลักสูตรการพัฒนาวิทยากรแกนนำเพื่อการใช้ประโยชน์จากโครงการเน็ตประชารัฐ จะมีการอบรมกันอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งถือเป็นกลุ่มสุดท้ายของโครงการฯ ในการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐไม่น้อยกว่า 1,000,000 คนทั่วประเทศ สอดคล้องตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาล