กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์
นายเอกลักษณ์ ปัทมสัตยาสนธิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด กางแผนประหยัดพลังงานระยะยาว ทุ่มงบกว่า 300 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา "Solar Roof" ประเดิมโรงงานและสาขาจ่ายไฟเยอะ รวม 6 แห่ง คาดประหยัด เงินกว่า 34 ล้านบาท /ปี มั่นใจคืนทุนภายใน 6 ปี
ด้วย อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ (Index Living Mall) เล็งเห็นถึงการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งปัจจัยการใช้ไฟที่มากขึ้น และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของภาคเอกชนในการร่วมลดการใช้พลังงานที่ยังผลให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศจะทำให้อากาศแปรปรวนส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติต่างๆ กระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของทุกคน จึงเป็นที่มาของการสร้างพลังงานสะอาดทดแทน ด้วยการดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ "Solar Roof" (ระบบเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าบนหลังคา โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module) ที่ติดตั้งบนหลังคาที่พักอาศัยหรืออาคารต่างๆ รับพลังงานแสงเข้ามาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้ากระแสตรง ก่อนส่งไปยังเครื่องแปลงไฟ (Inverter) เพื่อเปลี่ยนจากไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปใช้งานต่อไป โดยวางแผนติดตั้งประเดิมที่โรงงาน 2 แห่ง ได้แก่ มหาชัย จ.สมุทรสาคร และที่ จ.ระยอง รวมถึงสโตร์ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ อีก 4 แห่ง ได้แก่ สาขาราชพฤกษ์, สาขาพัทยา, สาขาบางนา, สาขาพระราม 2 ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบแล้วว่า ทุกแห่งนั้น มียอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเฉลี่ยต่อปี ราว 264 ล้านบาท ดังนี้
สถานที่ จำนวนใช้ไฟหน่วย(kW) Solar Roof บนพื้นที่หลังคา (ตร.ม.) งบลงทุน ประหยัดเงินค่าไฟ/ปี (บาท)
ผลิตไฟฟ้า (kWp) (บาท)
โรงงานมหาชัย 18,500,000 2,937.60 18,200 114,566,400.- 13,500,000.-
โรงงานระยอง 9,243,000 1,571.40 9,700 61,284,600.- 7,200,000.-
สาขาราชพฤกษ์ 9,000,000 1,117.80 6,900 43,594,200.- 5,100,000.-
สาขาพัทยา 1,800,000 496.80 3,000 19,375,200.- 2,300,000.-
สาขาบางนา 2,5440,000 807.30 5,000 31,484,700.- 3,700,000.-
สาขาพระราม 2 2,070,000 496.80 3,000 19,375,200.- 2,300,000.-
รวม 66,053,000 kWหน่วย หรือ264,212,000 บ. 7,427.70 kWp 45,800 ตร.ม. 289,680,300 บาท 34,100,000 บาท
นายเอกลักษณ์ ปัทมสัตยาสนธิ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด เผยว่า "จากการประเมินงบประมาณจากการใช้ไฟฟ้า บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ และบริษัท ในเครือถือเป็นยอดที่ค่อนข้างสูง แม้จะมีการรณรงค์ประหยัดไฟโดยใช้เท่าที่จำเป็น แต่ปัจจุบันงบการใช้จ่ายไฟยังคง สูงอยู่ เราจึงได้ทำแผนการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าแบบระยะยาว โดยเลือกติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนพลังงานแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งหลายประเทศนิยมใช้ ทั้งอเมริกา ยุโรป เพราะเป็นพลังงานธรรมชาติที่สะอาดและประหยัดด้วย สามารถติดตั้งได้แบบเสรีและทางภาครัฐยังช่วยสนับสนุนในเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ซึ่งสามารถนำมาลดหย่อนภาษี ได้ 88 ล้านบาท (ภายใน 3 ปี) โดยได้เลือกใช้บริการของบริษัทที่ได้รับมาตรฐานสากลซึ่งป็นบริษัทผู้บุกเบิกธุรกิจโซลาร์ ฟาร์ม (Solar Farms) ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนครั้งนี้จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าและประหยัดเงินได้อย่างมากในระยะยาว โดยเฉพาะส่วนของโรงงานที่มหาชัย และ จ.ระยอง ด้วยกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์แต่ละขั้นตอนที่จะได้เฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นต้องอาศัยเครื่องจักรเป็นหลัก ซึ่งต้องใช้กระแสไฟมากทั้งเครื่องตัดไม้-เจาะไม้, เครื่องติดขอบเฟอร์นิเจอร์, เครื่องดูดฝุ่นจากไม้, เครื่องหลอมเหล็ก รวมถึงเครื่องตัดและเย็บเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงหน้าร้านที่เป็นรูปแบบสโตร์สแตนอโลนของเรา ที่นอกจากการใช้ไฟฟ้ารูปแบบแสงส่องสว่างแล้ว ยังมีจุดการใช้ไฟดาวน์ไลท์หรือสปอร์ตไลท์ที่เพิ่มแสงเงาความสวยงามของ Room Setting ตลอดเวลา รวมถึงโซนเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ Power One ก็เช่นกันทั้งการเปิดทีวีตลอดเวลาหรือการเทสเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด ประกอบกับรูปแบบโครงสร้างของสโตร์ที่เป็นลักษณะโปร่งหลังคาสูง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้สถิติการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างสูงด้วย อย่างไรก็ตามการติดตั้งโซลาร์เซลล์ นอกจากจะคำนึงถึงรายจ่ายค่าไฟที่สูงแล้ว ยังต้องมีปัจจัยเอื้อในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย ทั้งพื้นที่บนหลังคาที่รองรับกับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และเป็นโซนที่สามารถรับแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
ทั้งนี้ คาดว่าอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้า เป็นมูลค่า 34 ล้านบาทต่อปี จากเดิม 264 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 13% ต่อปี โดยจุดคุ้มทุนอยู่ในปี 2023 (6 ปี) และภายใน 10 ปี (ปี 2027) เชื่อว่าจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 330 ล้านบาท บวกกับในส่วนของโรงงาน 2 แห่ง ที่ทางภาครัฐช่วยสนับสนุนในเรื่องมาตรการส่งเสริมการลงทุน ก็ทำให้เกิดความคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟตก ไฟดับ ในช่วงฤดูร้อนที่มีการจ่ายไฟของการไฟฟ้าได้อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟภาครัฐทางอ้อมด้วย