กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหารจี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยเร่งพัฒนาประสิทธิภาพรอบด้าน โดยเฉพาะการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หลังจากจีนประกาศทุ่มงบประมาณ 34,000 ล้านบาท ปรับปรุงระบบความปลอดภัยอาหารและยาของประเทศ เตรียมนำอุปกรณ์ เทคโนโลยี เข้าช่วยหวังพัฒนากระบวนการผลิตและกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการปลอมแปลง และผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนจากประเทศนำเข้าสินค้าทั่วโลก หลังประสบปัญหาความตกต่ำด้านภาพลักษณ์ของคุณภาพมาตรฐานสินค้าจีนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การที่จีนมีความพยายามเรียกความเชื่อมั่นต่อสินค้าผลิตในประเทศจีนกลับคืนมา โดยได้ประกาศทุ่มงบประมาณราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 34,000 ล้านบาท) ปรับปรุงระบบความปลอดภัยอาหารและยาของประเทศภายใน 3 ปี มุ่งเน้นด้านความปลอดภัยอาหารและยา นำเทคโนโลยี เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้การพัฒนากระบวนการผลิตและกระจายสินค้าอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการปลอมแปลงและการผลิตสินค้าที่ด้อยคุณภาพ โดยมีเป้าหมายที่เน้นด้านความปลอดภัยอาหาร
“หากจีนสามารถดำเนินการตามแผนได้จริง จะเป็นการปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านอาหารครั้งใหญ่ ซึ่งนั่นหมายความว่า หากผลเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก สินค้าของจีนจะกลับมาผงาดอีกครั้ง เสริมกับความได้เปรียบด้านต้นทุน สินค้าอาหารของไทยคงเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวมาก ปัจจัยด้านคุณภาพความปลอดภัยของอาหารที่ไทยเคยใช้เป็นจุดแข็ง ก็เริ่มจะมีช่องว่างในส่วนนี้ลดลง นอกจากนี้ ปัจจุบันจีนมีการออกแบบทั้ง ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ดีขึ้นอย่างมาก บางผลิตภัณฑ์มีบรรจุภัณฑ์ที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการออกแบบสินค้าที่โดดเด่นเลยทีเดียว”
อุตสาหกรรมอาหารของไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของระบบกำกับดูแลด้านอาหารของจีน เพราะในปีหนึ่งๆ ไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปจีนมากกว่า 5 ล้านตัน มูลค่า 40,000 ล้านบาท ในขณะที่มีการนำเข้าจากจีนปริมาณปีละ 550,000 ตัน มูลค่ามากกว่า 12,000 ล้านบาท การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ของจีนย่อมส่งผลต่อกระบวนการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะการตรวจสอบ และกฎระเบียบที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าอาหารสำคัญของไทยที่ส่งออกไปประเทศจีน เช่น ข้าวหอมมะลิ ลำไยสด น้ำตาลดิบ จากอ้อยชนิดเซนตริฟิวกัลป์ สตาร์ช จากมันสำปะหลัง ทุเรียนสด ปลาแช่แข็ง ข้าวเหนียว และลำไยแห้ง เป็นต้น
มูลค่าการค้าอาหารระหว่างไทย-จีน ปี 2545-2549
และนายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากการตรวจสอบและกฎระเบียบที่จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นแล้ว ในเรื่องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรนิ่งนอนใจ ในขณะที่ปัจจัยด้านคุณภาพความปลอดภัยของอาหารที่ไทยเคยใช้เป็นจุดแข็ง ก็เริ่มจะมีช่องว่างในส่วนนี้ลดลง ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งใหญ่ ทั้งด้านนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่ม คุณภาพและมาตรฐาน ต้นทุน รวมไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย ทั้งนี้ สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เห็นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการทันที โดยพร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือแนะนำ ทั้งในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบ การผลิต การเก็บรักษา การควบคุมการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้โรงงานลดของเสียลง ลดการถูกร้องเรียน พนักงานมีความเข้าใจในการทำงานการแก้ปัญหาที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น ลดการถูกตีกลับของสินค้า หรือมาตรฐานการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร เช่น น้ำ พลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปในคราวเดียวกัน รวมถึงการพัฒนา/การสร้างบุคลากร เพราะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนที่มีความรู้ ความชำนาญในด้านมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์ภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งยังมีความขาดแคลน
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2, 0 89484 9894