กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์คัดสหกรณ์การเกษตรเกรด 1-2 รองรับนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรของรัฐบาล พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการผลิต หวังสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ชูสหกรณ์มีศักยภาพเข้มแข็ง 1,573 แห่ง รวบรวมผลผลิตการเกษตร 11 สินค้าหลัก ปริมาณรวม 5.32 ล้านตันต่อปี
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการจัดระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้การตลาดมานำการผลิต ซึ่งสหกรณ์ภาคการเกษตรทั่วประเทศมีจำนวน 4,403 แห่ง เป็นสหกรณ์ที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีศักยภาพและมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจ อยู่ในระดับชั้น 1และชั้น 2 จำนวน 3,200 แห่ง แบ่งเป็นสหกรณ์ชั้น 1 จำนวน 629 แห่งและสหกรณ์ชั้น 2 จำนวน 2,648 แห่ง ซึ่งกรมฯจะดึงศักยภาพสหกรณ์การเกษตรชั้นที่ 1 และ 2 มาทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตการเกษตรและแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรของสมาชิก รวมถึงรวบรวมผลผลิตการเกษตรจากพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรปลอดสารพิษ เกษตรผสมผสาน และเกษตรอินทรีย์ ที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการด้วย
ปัจจุบัน ศักยภาพของสหกรณ์ในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรนับว่ามีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือการตลาด และประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ โดยจะเน้นสินค้าการเกษตรสำคัญ 11 ชนิด ปริมาณการรวบรวมผลผลิตการเกษตรทั้งหมด 5.32 ล้านตันต่อปี ได้แก่
1.ข้าว มีสหกรณ์ 618 แห่ง รวบรวมผลผลิต 1,610,000 ตัน
2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีสหกรณ์ 97 แห่ง รวบรวมผลผลิต 1,087,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ
3. มันสำปะหลัง มีสหกรณ์ 96 แห่ง รวบรวมผลผลิต 576,000 ตัน
4. ยางพารา มีสหกรณ์ 430 แห่ง รวบรวมผลผลิต 416,000 ตัน
5. ปาล์มน้ำมัน มีสหกรณ์ 72 แห่ง รวบรวมผลผลิต 968,000 ตัน
6. ผลไม้ มีสหกรณ์ 55 แห่ง รวบรวมผลผลิต 32,000 ตัน
7.ผัก มีสหกรณ์ 44 แห่ง รวบรวมผลผลิต 3,800 ตัน
8.กาแฟ มีสหกรณ์ 20 แห่ง สามารถเก็บรวบรวมผลผลิต 4,300 ตัน
9.โคเนื้อ มีสหกรณ์ 37 แห่ง รวบรวมผลผลิต 4,000 ตัน
10.โคนม 86 สหกรณ์ รวบรวมผลผลิต 613,200 ตัน
11.สินค้าประมง มีสหกรณ์ 18 แห่ง รวบรวมผลผลิต 10,000 ตัน
นอกจากนี้ ยังมีสหกรณ์ที่มีศักยภาพในการแปรรูปผลผลิตการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกจำนวน 718 แห่ง ปริมาณรวม 1.102 ตันต่อปี ได้แก่
1.สหกรณ์ที่มีโรงสีเพื่อแปรรูปข้าว 133 แห่ง แปรรูปข้าวสาร 120,000 ตัน
2.สหกรณ์แปรรูปโคนมและน้ำนมดิบ 36 แห่ง สามารถแปรรูปนมพร้อมดื่มในรูปนมพาสเจอร์ไรซ์และนม UHT 157,000 ตัน
3.สหกรณ์แปรรูปโคเนื้อและโคขุน 7 แห่ง สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์โคขุน 4,000 ตัน
4. สหกรณ์ผลิตน้ำมันปาล์ม 4 แห่ง สามารถแปรรูปปาล์มน้ำมัน 690,000 ตัน
5. สหกรณ์ยางพารา 430 แห่ง สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นยางแผ่นรมควัน ยางอัดก้อนยางแผ่นดิบ ยางคอมปาวด์และยางแท่ง ปริมาณ 100,000 ตัน
6.สหกรณ์กาแฟ 5 แห่ง แปรรูปกาแฟ 4,300 ตัน
และ7.สหกรณ์แปรรูปผัก ผลไม้ 100 แห่ง ทำหน้าที่คัดเกรดและรักษาคุณภาพผลผลิตผักและผลไม้ ปริมาณ 27,000 ตันต่อปี
"สหกรณ์ที่มีศักยภาพสามารถแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศจนเป็นที่ยอมรับมีอยู่หลายชนิดสินค้า เช่น ข้าวสารบรรจุถุง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม เนื้อโคขุน ผลิตภัณฑ์ยางพารา กาแฟสำเร็จรูป 3in1 กล้วยหอมทองปลอดสารเคมี มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง สินค้าผักปลอดภัย ซึ่งตลาดที่สำคัญในประเทศได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ในจังหวัดต่าง ๆ ร้านค้าสหกรณ์ ร้านอาหาร โรงแรม 5 ดาว โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และห้างโมเดินเทรด เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี และเซ็นทรัล ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของสหกรณ์การเกษตร สำหรับตลาดต่างประเทศ เช่น อเมริกา จีน ญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคเอเชีย และในอนาคตจะสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ ในการเข้ามาสนับสนุนดูแลเรื่องการผลิตสินค้าการเกษตรของสหกรณ์ให้มีคุณภาพ และเชื่อมโยงกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดหาตลาดมารองรับและเป็นช่องทางในการกระจายผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว