กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
"โรคไอกรน" เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม)ที่เกิดจากเชื้อไอกรนซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจและทำให้เกิดอาการไอที่มีลักษณะเฉพาะคือ ไอซ้อนๆ ติดๆกัน นาน ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทันและหลังจากหยุดไอผู้ป่วยจะหายใจเข้ายาว ๆ จนเสียงดัง "วู้ป" (Whoop) สลับกันไปกับการไอชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า"โรคไอกรน"บางครั้งอาการอาจเป็นเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัยอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า"โรคไอกรน" เกิดจาก "เชื้อไอกรน" เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า "บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส" (Bordetella pertussis) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย สำหรับสถานการณ์โรคไอกรนในประเทศไทยจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคพบว่าปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน 12 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 1-3 เดือน(ร้อยละ 25) โดยในปีนี้พบผู้ป่วยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ราย และรายล่าสุดเป็นเด็กหญิง อายุ 2 เดือนจากจังหวัดหนองบัวลำภู ส่วนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556 - 2560) มีรายงานผู้ป่วยโรคไอกรน จำนวน 16-77 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในปีนี้จำนวนผู้ป่วยมี
กว่า 6 เดือน แนวโน้มสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง
โดยทั่วไปแล้ว"โรคไอกรน"เป็นได้กับทุกอายุถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาวหรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน และจากข้อมูลการสอบสวนโรคพบว่าโรคไอกรนพบได้บ่อยในเด็ก ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวซึ่งมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ และมักพบได้มากในเด็กแรกเกิด เนื่องจากภูมิคุ้มกันจากแม่ผ่านมายังลูกไม่ได้หรือได้น้อยมาก ในเด็กเล็กอาการจะรุนแรงมากและมีอัตราเสียชีวิตสูง ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีและเป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม รดกันโดยตรง ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อและเกิดโรคเกือบทุกราย โดยระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-20 วัน ที่พบบ่อย 7-10 วัน ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวและอธิบายว่าส่วนใหญ่แล้วโรคไอกรนจะหายได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการไอมากๆ เช่น ปอดอักเสบ/ปอดบวม เป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่พบได้ถึงประมาณ 20% ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเกิดจากการมีเชื้อแบคทีเรียตัวอื่นเข้ามาแทรกซ้อนและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญในกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ภาวะปอดแฟบ (Atelectasis)ซึ่งเกิดจากการมีเสมหะเหนียวไปอุดในหลอดลมและถุงลม การไอที่รุนแรงและต่อเนื่องจะทำให้หายใจได้ไม่เต็มที่และร่างกายขาดออกซิเจน ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอาการชักเกร็ง มีจุดเลือดออกในสมอง เกิดภาวะหยุดหายใจจนเสียชีวิตและส่งผลต่อระบบการใช้พลังงานของร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ซึ่งมักจะพบได้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจพบหลอดลมอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , มีจุดเลือดออกตามผิวหนังบนใบหน้าและในสมอง, เลือดกำเดาไหล ในรายที่มีอาการไอรุนแรง มักมีเลือดออกที่ใต้ตาขาว ทำให้เห็นเป็นปื้นแดง หรือทำให้ขอบตาเขียวช้ำและบางครั้งอาจมีเลือดออกในสมองหรือในลูกตา แต่พบได้ไม่มาก ในผู้ใหญ่อาจมีอาการไอแรงจนกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไส้เลื่อน กระดูกซี่โครงหัก หรือหมอนรองกระดูกเคลื่อนได้ อาจทำให้โรคบางอย่างที่มีอยู่ก่อนแล้วกำเริบจนเกิดอันตรายได้ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ไส้เลื่อน สะดือจุ่น ในผู้ที่มีเชื้อวัณโรคซ้อนเร้นอยู่ก่อน อาจทำให้อาการของวัณโรคกำเริบ เนื่องจากโรคไอกรนจะทำให้ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันโรคลดลง
ทั้งนี้จากข้อมูลการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพฉบับที่ 155 ประจำสัปดาห์ที่ 15 (วันที่ 8 – 14 เม.ย. 61)คาดว่าในช่วงนี้จะยังพบผู้ป่วยโรคไอกรนประปราย และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยไอกรนเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นผู้ที่มีอาการไอ จาม ไม่ควรคลุกคลีกับเด็กแรกเกิด หรือไม่ควรพาเด็กเล็กไปในสถานที่ชุมนุมชนหรือแออัด และหากพบเด็กแรกเกิดมีอาการไอผิดปกติไอเป็นชุดๆ ไอมาก หายใจไม่ทันหรือไอแล้วมีเสียงวู้ป ให้รีบพาไปแพทย์ทันที
"การให้วัคซีนป้องกันโรคไอกรนในเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี นับเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรคไอกรน ดังนั้นขอแนะนำพ่อแม่ ผู้ปกครองพาบุตรหลานของท่านไปฉีดวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตามช่วงเวลาที่กำหนด เริ่มเมื่ออายุ 2 เดือน และให้อีก 2 ครั้ง ระยะห่างกัน 2 เดือนคือ ให้เมื่ออายุ 4 และ 6 เดือน โด๊สที่ 4 ให้เมื่ออายุ 18 เดือน นับเป็นครบชุดแรก (Primary immunization) โด๊สที่ 5 ถือเป็นการกระตุ้น (booster dose) ให้เมื่ออายุ 4 ปี หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422"