กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ซีพีเอฟ
มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เดินหน้าอบรมสร้างเสริมความรู้ด้านสิทธิแรงงานแก่แรงงานในโรงงานแปรรูปอาหารของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ย้ำ ศูนย์รับเรื่องพนักงาน "Labour Voices by LPN" ช่วยให้แรงงานทุกคนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงาน และเชื่อมั่นในการสื่อสารกับบริษัทมากขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นการขยายเครือข่ายจัดการปัญหาแรงงานที่มีประสิทธิภาพ
นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า การรับฟังเสียงพนักงานผ่านองค์กรที่เป็นกลาง กำลังเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจอย่างมาก เป็นระบบการสื่อสารระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่โปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมแก่กลุ่มแรงงาน มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับ ซีพีเอฟ เพื่อแบ่งปันความชำนาญและเครือข่ายในการบริหารจัดการแรงงานในห่วงโซ่การผลิตอาหารของไทยเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยการเปิดช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน "Labour Voices by LPN" ตั้งแต่ปลายปี 2560 และจากการติดตามประเมินผลพบว่าพนักงานซีพีเอฟ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมีความพึงพอใจและสะดวกใจที่จะพูดคุยสื่อสารอย่างเป็นอิสระ พร้อมได้รับคำแนะนำอย่างเป็นระบบจากหน่วยงานที่เป็นกลางไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ช่วยให้แรงงานเป็นเครือข่ายในการป้องกันปัญหาแรงงานได้อย่างเข็มแข็ง
"ต้นแบบของความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) และภาคเอกชน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานไทยและต่างชาติ สร้างการแข่งขันของการผลิตอาหารของไทย ควบคู่ช่วยป้องกันปัญหาด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน" นายสมพงค์ กล่าว
มูลนิธิ LPN นำประสบการณ์และความชำนาญในการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือปัญหาด้านแรงงานต่างชาติที่มูลนิธิดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2548 มาช่วยสนับสนุนการดูแลและการปฎิบัติต่อแรงงานของ ซีพีเอฟ ที่มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในภาคการผลิตกว่า 10,000 คน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่องค์กรในการจัดการปัญหาและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของบริษัท รวมถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานของประเทศที่ยั่งยืน
นายสมพงค์ กล่าวต่ออีกว่า "Labour Voices by LPN" เป็นช่องทางการสื่อสารที่เป็นอิสระจากนายจ้าง ที่ไม่เพียงช่วยให้ธุรกิจได้รับรู้ประเด็นปัญหาและข้อกังวลของแรงงานเพื่อให้มีการแก้ไขและปรับปรุงการดูแลแรงงานได้อย่างเหมาะสมและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน นับเป็นการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของภูมิภาคอาเซียน สร้างผลบวกต่อประสิทธิภาพการผลิต และช่วยขยายเครือข่ายในการช่วยจัดการและป้องกันปัญหาแรงงานภายในองค์กรและสังคมเป็นอย่างรูปธรรมมากอีกทางหนึ่ง นับตั้งแต่การเปิดช่องทางรับฟังเสียงพนักงาน มูลนิธิ LPN ยังได้เดินสายให้ความรู้ส่งเสริมเรื่องสิทธิแรงงานแก่พนักงานของซีพีเอฟในโรงงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นายวรรณะ เมย์ ชาวกัมพูชา รับผิดชอบเป็นล่ามกัมพูชาของโรงงานแปรรูปไก่นครราชสีมา หนึ่งในสถานประกอบการของซีพีเอฟ ที่มีการจัดจ้างแรงงานกัมพูชาประมาณ 4,000 คน กล่าวว่า แรงงานทุกคนรับรู้ช่องทาง "Labour Voices by LPN" มีเจ้าหน้าที่ LPN ที่พูดภาษากัมพูชาและเมียนมาได้ คอยรับฟังการแจ้งเรื่องราวกัมพูชา ทุกคนดีใจสามารถพูดคุยสื่อสารกับคนที่เป็นภาษาเดียวกันได้ ช่วยให้ทุกคนได้รับรู้และเข้าใจถึงสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยและในอาเซียนมากขึ้น และนำความรู้ไปสื่อสารกับคนรู้จักหรือเพื่อนบ้านที่ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้ระมัดระวังการถูกหลอกลวงมาใช้แรงงานทาส แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก รวมถึงยังเป็นหูเป็นตาช่วยให้ภาครัฐเข้าไปให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
"Labour Voice by LPN ได้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้ข่าวสารแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้แรงงานเป็นอีกพลังที่จะเข้ามาแก้ไขและป้องกันความเสี่ยงด้านแรงงานในภูมิภาคอาเซียนได้" นายวรรณะกล่าว
ขณะที่ นายซอ มิน ไท พนักงานชาวเมียนมาทำงานที่โรงงานแปรรูปไก่ มีนบุรี ซีพีเอฟ กล่าวว่า แม้ว่าพนักงานซีพีเอฟทุกคนมีความรู้เรื่องสิทธิแรงงานจากการอบรมของบริษัทอยู่แล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำตลอดเวลาอยู่แล้ว สำหรับความรู้จากมูลนิธิ LPN ช่วยให้เพื่อนพนักงานที่โรงงานเข้าใจเรื่องสิทธิแรงงานมากยิ่งขึ้น และทำให้มั่นใจว่าบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานอย่างโปร่งใส
เช่นเดียวกับ นางสาวตาน ตาน มน พนักงานชาวเมียนมา ที่อยู่โรงงานแปรรูปไก่ มีนบุรี กล่าวว่า ดีใจที่บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานทุกเชื้อชาติอย่างเท่าเทียมกัน ศูนย์ Labour Voice by LPN ช่วยให้แรงงานซีพีเอฟได้มีความมั่นใจในรับทราบข่าวสารและได้สื่อสารในสิ่งที่ตนเองคิดและต้องการแนะนำให้บริษัทนำไปพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีกับเพื่อนพนักงานทุกคน
นางสาว ตาน ตาน ยังบอกต่ออีกว่า เพื่อนพนักงานทุกคนบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของศูนย์ Labour Voice by LPN ไว้กับตัวเพื่อใช้คุยปรึกษาเรื่องต่างๆ และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและแนะนำเพื่อนแรงงานเมียนมาที่ทำงานในประเทศไทยได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน