กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--เมพขิงขิง
กรมพลศึกษา จัด PEACE GAME สร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับหน่อยงาน กองทัพภาคที่ 4 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ร่วมบูรณาการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความเข้าใจอันดีต่อกัน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ จัดงานแถลงข่าว "โครงการแข่งขันกีฬา และออกกำลังกายเพื่อสันติสุข" (PEACE GAME) สำหรับให้เยาวชน และประชาชนทั่วไป ในพื้นที่ระดับอำเภอ และตำบลต่างๆ ของจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา ประกอบด้วย ฟุตบอล มวย และปันจักสีลัต เพื่อความสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในงานได้รับเกียรติจาก นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน ณ ภายในสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ กรมพลศึกษา
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยว่า โครงการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกายเพื่อสันติสุข ประจำปี ๒๕๖๑ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้มอบหมายให้กรมพลศึกษา ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา การดำเนินการมีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทรกซึมเข้าถึงทุกพื้นที่อย่างเป็นธรรม เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญที่สุดคือส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลโดยใช้กีฬามาเป็นสื่อกลางเพื่อให้กลุ่มบุคคลมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมีน้ำใจต่อกันและรู้จักการให้อภัยต่อกัน
ทั้งนี้ การดำเนินการตามโครงการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558 - 2564 ที่กำหนดวิสัยทัศน์ "ชาติมีเสถียรภาพและเป็นปึกแผ่น ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต ประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องปลอดภัยจากภัยคุกคามข้ามพรมแดน พร้อมเผชิญวิกฤติการณ์ มีบทบาทเชิงรุกในประชาคมอาเซียนและดำเนินความสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างมีดุลยภาพ" ส่วนที่ 1 นโยบายเสริมสร้างความมั่นคงที่เป็นแก่นหลักของชาติ นโยบายที่ 2 สร้างความเป็นธรรม ความปรองดองและความสมานฉันท์ในชาติ ข้อ 2.4 ว่าด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชาติอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสันติสุขมีความรักความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทยแบะเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง โดยมีแนวทางหรือการดำเนินการที่ส่งเสริมค่านิยมที่ดีของสังคมไทย การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคที่เท่าเทียม และการยอมรับความคิด ความเชื่ออัตลักษณ์ วิถีชีวิต ภาษาและวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างกัน และนโยบายที่ 3 ป้องกันและแก้ไขการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อ 3.3 ว่าด้วยการเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นพลังในการเข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะการสร้างการยอมรับของสังคมโดยรวม และส่งเสริมให้คน และสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และเร่งรัดการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนที่สอดคล้องกับศักยภาพ ความต้องการ และลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละพื้นที่
สำหรับการดำเนินงานในปีนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ราชองครักษ์พิเศษ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 มีการเพิ่มกิจกรรมการจัดการกีฬาที่เป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น กีฬาปันจักสีลัต กีฬามวยไทยให้ลงสู่พื้นที่ นอกเหนือจากกีฬาฟุตบอล ในขณะเดียวกัน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอกิจกรรมกีฬาที่น่าสนใจเพื่อดำเนินการต่อเนื่องต่อไป ได้แก่ เปตอง บาสเกตบอล วอลเลย์บอลชายหาด แฮนด์บอล ตะกร้อลอดบ่วง จานร่อน
ซึ่งในการดำเนินงานโครงการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกายเพื่อสันติสุข เป็นกิจกรรมที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งหวังให้ใช้ปรัชญาของการกีฬาเป็นสื่อในการปลูกฝังให้เกิดความรักในท้องถิ่น ความสามัคคีความมีน้ำใจเป็นนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ในชุมชนและระหว่างชุมชน ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนสำคัญในการลดความรุนแรงของปัญหา สร้างความสามัคคีให้เกิดดังเดิม
การจัดโครงการแข่งขันกีฬา และการออกกำลังกายเพื่อสันติสุข ประจำปี ๒๕๖๑ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพการจัดโครงการ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทางกระทรวงฯได้มอบหมายให้กับ กรมพลศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และให้ปฏิบัติในลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการในส่วนท้องถิ่นแต่ละจังหวัด ภาคใต้และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ให้การสนับสนุนส่งเสริมการแข่งขันฯ อาทิ เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, องค์การบริหารส่วนจังหวัด, องค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล, นายอำเภอ,กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนท้องถิ่นจังหวัดและกลุ่มชุมชนต่างๆ ทั้งหมดภายในจังหวัดภาคใต้ ประกอบกับหน่วยงานกระทรวง / ทบวงกรมฯ / จากส่วนกลาง เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา เช่น สถาบันการพลศึกษา, กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม, ทบวงมหาวิทยาลัย, กระทรวงมหาดไทย, กรมการปกครองท้องถิ่นและ กรมประชาสัมพันธ์ โดยช่วยกันเร่งรัดดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้คนด้อยโอกาสในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยมุ่งเน้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทรกซึมเข้าถึงทุกพื้นที่อย่างเป็นธรรมและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนลักษณะการใช้ชีวิตของประชาชนในแต่ละพื้นที่ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่มบุคคลโดยใช้กีฬามาเป็นสื่อกลางเพื่อให้กลุ่มบุคคลมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมีน้ำใจต่อกันและรู้จักการให้อภัยต่อกันเพื่อคุณภาพชีวิตเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดร.ปัญญา หาญลำยวง อธิบดีกรมพลศึกษา เผยต่อว่า " นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมกีฬาต่างๆ ในพื้นที่ใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันฟุตบอลในระดับตำบล รวม 290 ตำบล ของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา (4 อำเภอ) การจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเริ่มจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2559 ในชื่อโครงการจัดการแข่งขันฟุตบอลในระดับตำบล ตามแนวทางทุ่งยางแดงโมเดล โดยจังหวัดปัตตานี เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ และในปี 2560 ในชื่อโครงการแข่งขันฟุตบอลสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจังหวัดยะลา เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมกีฬานี้ เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงเห็นความสำคัญควรยกระดับการจัดการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่อไป และเพิ่มกีฬาที่เป็น อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เช่น กีฬาปันจักสีลัต กีฬามวยไทยให้ลงสู่พื้นที่ในระดับตำบล เพื่อให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ ได้เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของกีฬา และการออกกำลังกาย ในการเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักการให้อภัย อันจะนำไปสู่ความสามัคคี ปรองดองเกิด และสอดคล้องกับแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดี และทำให้ เกิดความรัก ความสามัคคี ภาคภูมิใจและหวงแหนในท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ มีความเข้าใจการดำเนินการงานภาครัฐ ยอมรับ และให้ความร่วมมือกับภาครัฐเพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำโครงการจัดการแข่งขันกีฬาและการออกกำลังกายเพื่อสันติสุข ขึ้นในปี 2561 นี้" ดร.ปัญญา กล่าวปิดท้าย