กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน) จัดเสวนา "นับถอยหลังเทียนกง-1 ตกสูงโลก บทสรุปจากห้วงอวกาศ" เพื่อให้สาธารณชนเกิดการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการติดตามและเฝ้าระวังวัตถุอวกาศ นำโดย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจร จากจิสด้า, คุณพรเทพ นวกิจกนก หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์วงโคจรและวัตถุอวกาศจากจิสด้า, คุณกฤษณ์ คุณผลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), ผศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอวกาศ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ร้อยตรีพงศธร ศิริสาคร ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และ คุณเฌอปราง อารีย์กุล หรือ เฌอปราง-BNK48 เข้าร่วมงาน ณ ลานเอเทรี่ยม 3 ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในช่วงระหว่างการเสวนาเชิงวิชาการ ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของจิสด้า กล่าวว่า "จิสด้า ในฐานะหน่วยปฎิบัติภารกิจทางด้านอวกาศของไทย ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยทางจิสด้ามีโปรแกรมที่ใช้ติดตามความสูงของสถานีอวกาศ รวมไปถึงความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติเพื่อติดตามการตกของสถานีอวกาศเทียงกง-1 ด้วยข้อมูลจากโปรแกรม EMERALD ที่จิสด้าพัฒนาขึ้น และข้อมูลจาก China manned space พบว่าสถานีอวกาศเทียนกง 1 โคจรรอบโลกด้วยความสูงเฉลี่ย ณ วันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 198 กิโลเมตร ทั้งนี้เมื่อสถานีอวกาศเทียนกง 1 ตกสู่พื้นผิวโลกจะมีการแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก และหลงเหลือสู่พื้นโลกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศที่มีความร้อนสูงจนทำให้โลหะต่างๆ เกิดการระเหิดและกลายเป็นไอในที่สุด ทั้งนี้ โอกาสที่ชิ้นส่วนจะตกในพื้นที่ของประเทศไทยมีน้อยกว่าร้อยละ 0.1"
ขณะที่ นายกฤษณ์ คุณผลิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาด บริษัทเซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ เผยว่า "ปัจจุบันมีขยะอวกาศอยู่ในวงโคจรชั้นต่ำประมาณ 500,000 ชิ้น และมีดาวเทียมที่ใช้งานได้อยู่ประมาณ 50,000 ดวง ส่วนโอกาสของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ที่จะตกสู่ไทยนั้นเขาคำนวณว่ามีโอกาสประมาณ 0.01%"
ด้าน "เฌอปราง อารีย์กุล" กัปตันวง BNK48 ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ได้มาร่วมงานเสวนาเปิดมุมมองผ่านเกี่ยวกับอวกาศ ให้ความเห็นว่าแม้เทคโนโลยีอวกาศจะทำให้มีความเสี่ยงจากขยะอวกาศ แต่ก็มีประโยชน์ที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น มีความแม่นยำในการทำงานต่างๆ มากขึ้น เรื่องวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด ดีใจมากๆที่ได้มาร่วมเสวนาวันนี้ ส่วนตัวชอบเรื่องเกี่ยวกับอวกาศอยู่แล้ว และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และอวกาศตลอดอยู่แล้ว"
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา หน่วยงานติดตามและรายงานสถานการณ์ของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน หรือ China Manned Space Agency: CMSA ประกาศผ่านทางเว็บไซต์ว่า เมื่อเวลา 08.15 ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 07.15 ตามเวลาในประเทศไทย สถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีน ได้ตกสู่พื้นโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยชิ้นส่วนทั้งหมดของเทียนกง 1 ได้ถูกเผาไหม้ไประหว่างเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ไม่มีรายงานความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดมาจากการตกลงมาของเทียนกง 1 แต่อย่างใด ซึ่งสถานีอวกาศ 'เทียนกง-1' ของจีน ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรของโลกเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2554 จากฐานปล่อยจรวดเมืองจิ๋วฉวน มณฑลกานซู มีวงโคจรห่างจากโลก 350 กม. มีขนาด 8.5 ตัน และเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีน
การตกของวัตถุจากอวกาศที่ตกมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการส่งดาวเทียมดวงแรกได้ "สปุตนิก" ของสหภาพโซเวียต โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของดาวเทียมจะถูกเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ แต่กรณีที่เป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียม จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นจะเผาไหม้ไม่หมดตกสู่พื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมากว่า 60 ปี ชิ้นส่วนจากอวกาศที่ตกลงมาสู่พื้นผิวโลกนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ให้ชีวิตและทรัพย์สินแม้แต่ครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของจะเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย