กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--M Pictures
ผู้กำกับ / เขียนบท / อำนวยการสร้าง แอนดรูว์ นิโคล
นักแสดง อะแมนดา ไซเฟร็ด — เดอะเกิร์ล
ไคลฟ์ โอเวน — ซัล ฟรีแลนด์
คลอม ฟิโอเร — นักสืบชาลส์ แกททิส
ความยาว 99 นาที
ความเป็นส่วนตัวของพวกเราอยู่ที่ไหน
วันที่ 6 มิถุนายน 2013 นักข่าวสายการเมืองชื่อดัง ผู้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติและได้รับรางวัลมาแล้วมากมายจากสำนักข่าวชื่อดัง The Guardian เกล็นน์ กรีนวาลด์ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับข้อมูลลับที่รั่วไหลจากแหล่งข่าวที่เป็นอดีตพนักงานของ NSA เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน นี่คือหนึ่งในข่าวการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษนี้ สโนว์เดนได้เผยเอกสารลับเกือบ 10,000 ฉบับ ที่ระบุถึงโครงการลับของรัฐบาลที่สอดแนมการสื่อสารทุกชนิดในสหรัฐอเมริกาด้วยความร่วมมือจากองค์กรจากต่างประเทศ โครงการนี้ทำให้ NSA สามารถเข้าถึงการใช้โทรศัพท์และทุกอย่างที่ประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาทำบนโลกอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องใช้ความยินยอมจากหมายศาล ในขณะที่ช่วงเวลานั้น เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นข่าวใหญ่โตมโหฬาร ทางฝ่าย NSA ก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้หรือกระทำการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ในปี 2016 อีกอร์ ทเวทคอฟ ช่างภาพชาวรัสเซียได้ทำการทดลองอย่างหนึ่งในโปรเจกต์ศิลปะของเขาชื่อ "Your Face Is Big Data" เขาได้ใช้เวลา 6 สัปดาห์ ในการถ่ายภาพบุคคลแปลกหน้าที่สถานีรถไฟใต้ดินเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และใช้แอป FindFace (แอปสำหรับระบุเจ้าของใบหน้าในรูปถ่าย) เพื่อหาข้อมูลของคนเหล่านั้นท่ามกลางผู้ใช้งานกว่า 55 ล้านคนบน VKontakte (แอปโซเชียลเน็ตเวิร์กของรัสเซีย) ผลที่เขาได้รับคือ อีกอร์สามารถระบุตัวตนของคนที่เขาไม่เคยรู้จักได้ถึงประมาณ 70% ของคนที่เขาได้ถ่ายรูปมาในช่วง 6 สัปดาห์นั้น
เกี่ยวกับ ANON
ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับที่มีมุมมองและวิธีคิดอันน่าทึ่ง แอนดรูว์ นิโคล "ANON" บอกเล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี ในปี 1997 แอนดรูว์ได้สร้างผลงานระดับมาสเตอร์พีซด้วยการใช้คอนเซปข้างต้นในภาพยนตร์เรื่อง "Gattaca" หลังจากนั้นเขาได้สร้างผลงานคุณภาพออกมามากมาย อาทิ "The Truman Show" ที่ทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ "Lord of War", " In Time", "Good Kill" ที่ทำให้คนดูต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
ใน "ANON" แอนดรูว์ได้ให้ความสำคัญกับมุมมองด้านเทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูลและความเป็นส่วนตัวในโลกโซเชียลมีเดีย ดั่งตัวอย่างในกรณีของ สโนว์เดน และ WikiLeaks โดยนำเสนอข้อมูลเหล่านั้นในรูปแบบของภาพยนตร์ประเภทฟิล์มนัวร์ที่มีกลิ่นอายของภาพยนตร์ที่เคยสร้างชื่อให้กับเขา
จุดจบของความเป็นส่วนตัว
"ANON" บอกเล่าเรื่องราวของ ซัล ฟรีแลนด์ (ไคลฟ์ โอเวน) ตำรวจผู้เผชิญกับคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่ดูเหมือนว่าทุกคดีมีส่วนเกี่ยวข้องกัน ซัลได้ออกตามหาตัวคนร้ายเหมือนดั่งที่นักสืบทั่วไปทำ แต่ในสถานที่ราวกับโลกอนาคตแห่งนั้น ซัลมีข้อได้เปรียบข้อหนึ่งที่สามารถช่วยในการไขคดีเหล่านั้น นั่นคือระบบที่บันทึกกิจกรรมทุกอย่างของทุกๆ คนด้วยความถี่ระดับเสี้ยววินาที ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกบันทึกลงบนฐานข้อมูลที่มีชื่อว่า The Ether ซึ่งเหล่าผู้รักษากฎหมายสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนี้ได้ มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับการฝังคอมพิวเตอร์ชีวภาพ (biosyn computer) ที่จะบันทึกทุกกิจกรรมในชีวิตของพวกเขา คอมพิวเตอร์นี้ชื่อว่า The Mind's Eye ซึ่งมันทำให้ทุกคนไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป เพียงแค่คุณเดินไปตามท้องถนน คุณก็สามารถเห็นข้อมูลของทุกคนที่ปรากฏต่อสายตาของคุณ คุณจะเห็นว่าพวกเขาใส่นาฬิกายี่ห้ออะไร พวกเขาซื้อรถที่ไหน ข้อมูลเหล่านั้นจะปรากฏในสายตาของคุณความเป็นส่วนตัวทั้งหมดที่คุณรู้จักจะสูญหายไปจากโลกนี้ และมันก็คือจุดสิ้นสุดของการก่ออาชญากรรม ถึงแม้ว่าจะมีการก่อคดี ผู้ต้องหาก็จะถูกมัดด้วยหลักฐานอย่างง่ายดาย และการสอบสวนก็กลายเป็นแค่งานเอกสาร ตำรวจเป็นแค่สัญลักษณ์ การดำเนินกระบวนการทางกฎหมายอันยืดยาวเหลือเพียงแค่ขั้นตอนสั้นๆ ดั่งดาวน์โหลดจากทางอินเทอร์เน็ต
แต่เมื่อ ซัล ได้ค้นลงไปในคดีเหล่านั้น พวกมันมีสิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน สิ่งนั้นคือสัญญาณของการพังทลายของระบบที่สังคมให้ความเชื่อถือ มีใครบางคนค้นพบวิธีเจาะระบบ The Ether เพื่อไปดัดแปลงบันทึกข้างในเพื่อปกปิดการก่ออาชญากรรม ซัลและหัวหน้าของเขา ชาลส์ แกททิส (คลอม ฟิโอเร) ต้องรับมือกับความกดดันที่พวกเขาไม่เคยเผชิญมาก่อน พวกเขาต้องหาผู้กระทำผิดและอุดรอยรั่วของระบบนี้ให้ได้
ในขณะที่เขาได้ทำการสืบสวนคดีนี้ เขาได้พบกับเรื่องที่ทำให้เขาประหลาดใจ ซึ่งในตอนแรกเขาคิดว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่ไม่สำคัญ ในขณะที่เขากำลังเดินอยู่บนท้องถนน เขาได้พบกับหญิงสาวคนหนึ่ง (อะแมนดา ไซเฟร็ด) ที่ Mind's Eye ของเขาไม่สามารถระบุตัวตนได้ แรกเริ่มเขาคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของระบบ แต่แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่าหญิงสาวคนนั้นคือเบาะแสชิ้นแรกของเขา และนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจในการตามหาหญิงสาวคนนั้นที่ไม่ควรมีตัวตนอยู่จริง
"ผมคิดเอาไว้อยู่ในหัวนานหลายปีแล้วครับว่า ผมอยากที่จะสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว" ผู้กำกับ/เขียนบท แอนดรูว์ นิโคล อธิบาย "การใช้ชีวิตของผู้คนเริ่มมีการถูกบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงยุค 80' อย่างตำรวจในยุคปัจจุบันยังพกกล้องติดตัวกันเลย (ซึ่งบางครั้งก็มีแอบไปตัดต่อหลักฐานด้วย) พวกเราทุกคนล้วนแต่มีบันทึกส่วนตัวไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สมาร์ทโฟนหรือโซเชียลมีเดีย และมันง่ายมากที่จะดัดแปลงรูปภาพหรือคลิปเหล่านั้น สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ในสังคมปัจจุบันก็เปรียบเสมือนวิวัฒนาการของมนุษย์เราที่กำลังเข้าใกล้คอมพิวเตอร์ชีวภาพ (biosyn computer) เข้าไปทุกที"
ภาพยนตร์เรื่องนี้ของแอนดรูว์ได้ตั้งคำถามที่ไม่มีใครเคยกล้าตั้งคำถาม จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากความเป็นส่วนตัวในสังคมเราหายไป เขาได้นำเสนอคำถามนี้อย่างชาญฉลาด เขาไม่ได้ทำในรูปแบบของสารคดีหรือการทดลองทางสังคม เขานำเสนอมันในรูปแบบของภาพยนตร์แนวระทึกขวัญที่ทำให้ผู้รับชมสามารถเพลิดเพลินกับมันไปได้ด้วย
เมื่อเขานำเสนอโปรเจกต์นี้ให้ผู้อำนวยการสร้าง โอลิเวอร์ ไซมอน และ แดเนียล บาว จาก K5 Film พวกเขาได้ตกหลุมรักในบทภาพยนตร์ของแอนดรูว์ทันที และมันก็ทำให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความเป็นไปได้ในอนาคตของสังคม ไซมอนได้กล่าวว่า "แดเนียลและผมเป็นแฟนผลงานของแอนดรูว์ครับ เขามีมุมมองและสไตล์การถ่ายทำที่โดดเด่นและชัดเจน ความคิดของเขามักล้ำหน้าไปกว่าสังคมของเราก้าวหนึ่งเสมอ เมื่อเขาได้นำบทมาให้เราอ่านและพูดกับเรา เขาได้ทำการสำรวจมาแล้วว่า ในปัจจุบันคนหลายคนยินยอมที่จะเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัว ซึ่งมันก็ตรงกับประเด็นที่เรานำเสนอใน 'ANON' ว่า 'พวกเราจะเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเราได้มากเพียงใด และผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร'" พวกเขาไม่ลังเลแม้แต่น้อยที่จะร่วมมือกับแอนดรูว์ ในการสร้างภาพยนตร์ที่ตีแผ่ปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดในยุคนี้
ชายที่เห็นมากเกินไป
เดิมที ซัล ฟรีแลนด์ เป็นเพียงตำรวจที่กำลังหมดไฟในการทำงาน "ซัล เป็นชายที่เห็นมากเกินไปครับ" แอนดรูว์กล่าว "นี่คือบทเรียนที่สำคัญสำหรับคนที่ทำงานด้วยการสอดแนมชีวิตของผู้อื่น เขาทราบว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้งานของตำรวจกลายเป็นแค่งานเอกสาร แต่แล้วเขาก็ตระหนักได้ว่า สิ่งที่ทุกคนเรียกว่าจุดสิ้นสุดของอาชญากรรมนั้นอาจจะเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น และตัวเขาก็กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถเชื่อสิ่งที่อยู่ต่อหน้าเขาได้อีกต่อไป"
เมื่อนึกถึงคนที่จะมารับบทนี้ แอนดรูว์ได้คิดถึง ไคลฟ์ โอเวน นักแสดงผู้ที่กำลังโด่งดังจากบทของด็อกเตอร์ จอห์น แทคเครี จากผลงานของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก ในภาพยนตร์ย้อนยุคที่เล่าถึงเรื่องของการแพทย์ "The Knick" แอนดรูว์กล่าวว่า "ผมมีความตั้งใจที่จะร่วมงานกับไคลฟ์ซักครั้งอยู่แล้ว ตัวเขามีบรรยากาศที่คล้ายคลึงกับ ซัล ฟรีแลนด์ และโลกของภาพยนตร์ที่ผมกำลังสร้าง ดวงตาของเขาฉายถึงความเหนื่อยล้าที่มีต่อโลก และนั่นก็คือสิ่งที่ผมต้องการ"
สำหรับโอเวน ซัลคือตัวละครที่เขาสามารถเข้าใจความคิดได้ "เขาตามล่าคนร้ายที่อยู่นอกเหนือระบบ มันมีบางสิ่งที่ซัลสามารถสื่อถึงได้ เขามีความรู้สึกเล็กๆ ในใจที่แสดงหาความสันโดษ เพราะเทคโนโลยีรอบตัวเขามันทำให้เขารู้สึกเหนื่อยล้า เขาได้เกี่วพันเขาไปในคดีนี้เพราะว่าเขาได้พบกับ เดอะเกิล ผู้ที่อยู่นอกเหนือระบบ"
แต่ความต้องการของซัล ฟรีแลนด์ อาจจะมองได้อีกแง่หนึ่งหากคุณมองลึกลงไปกว่านั้น เขาอาจจะอยากให้ทุกคนลืมเขา
"สิ่งสำคัญสำหรับตัวละครของผมคือ มันมีบางสิ่งได้เกิดขึ้นกับเขาในอดีต ลูกชายของเขาเสียชีวิต และเขารู้สึกว่าเขามีส่วนที่ทำให้ลูกของเขาตาย" โอเวนกล่าว ถ้าคุณคิดว่านั่นคือประสบการณ์ที่เลวร้ายแล้วล่ะก็ ความรู้สึกนั้นจะถูกทวีคูณขึ้นไปอีกในโลกของ ANON ดั่งที่โอเวนได้พูดเอาไว้ว่า "ถ้าหากคุณสามารถมองภาพของเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำไปเรื่อยๆ ได้ นั่นหมายความว่าคุณอาจจะถูกอารมณ์ความรู้สึกของคุณครอบงำซะเอง และนั่นก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับซัล โดยเฉพาะนั่นคือจุดต่ำสุดในชีวิตของเขา บางคนพูดว่า เวลาคือสิ่งที่เยียวยาจิตใจได้ดีที่สุด แต่ถ้าคุณสามารถมองภาพเหตุการณ์ตอนไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะดีหรือจะร้ายแค่ไหน คุณก็จะรู้สึกอยากไปดูพวกมันแน่นอน"
โอเวนตระหนักถึงความคิดนี้และส่ายศีรษะ "คุณลองจินตนาการดู ถ้าคุณสามารถย้อนกลับไปมองภาพช่วงไหนก็ได้ของชีวิต มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะย้อนกลับไปมองแต่เรื่องดีๆ คุณว่ามั้ย"
เจาะลึก แอนดรูว์ นิโคล
ความซับซ้อนของปัญหานี้คือสิ่งดึงดูดที่ทำให้ ไคลฟ์ โอเวน ชื่นชอบบทภาพยนตร์ของนิโคล "ผมได้อ่านบทภาพยนตร์ของ แอนดรูว์ มาหลายเรื่องแล้ว และผมก็รู้สึกมาตลอดว่าเขาเป็นคนที่น่าสนใจ บทของเขามักจะเล่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุคของพวกเรา" ไคลฟ์กล่าว
"แต่" เขาพูดต่อ "เหนือสิ่งอื่นใด ผมมีความสุขขที่ได้ทำงานร่วมกับเขา ไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็นคนฉลาด แต่เป็นเพราะเขาเป็นคนตลก เขาไม่ใช่คนหยิ่ง ผมมีความสุขมากครับที่ได้ร่วมงานกับเขา"
เมื่อ อะแมนดา ถูกถามเรื่องเกี่ยวกับผู้กำกับบ้าง เธอหัวเราะและพูดว่า "เขามีสมองที่ไม่ได้แตกต่างไปจากพวกเรา เขาไม่ใช่ศิลปินที่สร้างแต่ผลงานที่ไม่มีใครเข้าใจ แต่ฉันก็ชอบเขาในจุดนั้น เพราะฉันรู้ดีว่าฉันสามารถหาคำตอบที่ต้องการจากเขาได้ และเขาก็รู้ว่าเขาต้องการอะไร"
ใครคือ "เดอะเกิร์ล"
ถ้าหากซัล ฟรีแลนด์ คือดวงตาของ "ANON" ผู้หญิงที่ทั้งเราและซัลไม่รู้จักชื่อก็คือหัวใจของภาพยนตร์เรื่องนี้
แอนดรูว์รู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า อะแมนดา ไซเฟร็ด ผู้ที่เขาเคยร่วมงานกันมาใน "In Time" คือ เดอะเกิร์ล "หากคุณต้องการนักแสดงที่สามารถสื่อสารผ่านดวงตาได้ (ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่ถ่ายทอดผ่านทางตา) อะแมนดาคือนักแสดงที่คุณต้องการ" แอนดรูว์กล่าว
"ในขณะที่ตัวละครของไคลฟ์เก็บซ่อนบาดแผลในใจเอาไว้ ตัวละครของอะแมนดาคือตัวละครที่กล้าเผยบาดแผลของเธอ พวกเขาสร้างสมดุลย์ใก้แก่กันและกัน" โอลิเวอร์กล่าว "เราต้องการนักแสดงที่จะมารับบท เดอะเกิล เป็นคนที่สามารถสร้างกลิ่นอายของความลับ และมีสเน่ห์ดึงดูดที่ทำให้ซัล และผู้ชมทุกคนต้องติดตามเธอ อะแมนดาคือนักแสดงที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เธอคือผู้หญิงที่คุณจะต้องตามไปจนสุดขอบโลก"
"เธอคือนักแสดงที่เยี่ยมยอด" ไคลฟ์กล่าว "เธอคือคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบทนี้ เพราะเธอเป็นคนสวยและมีสเน่ห์ดึงดูด แต่ก็ยังแฝงความเป็นปริศนาเอาไว้ในตัว ซึ่งมันก็ประจวบเหมาะกับตัวละครนี้พอดี บทของเธอสำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้มาก เพราะทุกคนต้องการหาตัวเธอ และค้นหาความจริงว่าเธอคือใคร"
อะแมนดารู้สึกดึงดูดในการรับบทที่ท้าทายเช่นนี้ "มันเล่นยากมากค่ะ ในฐานะของนักแสดงแล้ว ฉันพูดคุยและติดต่อผู้คนอยู่เสมอ ในขณะที่ เดอะเกิล เป็นตัวละครที่เงียบและเก็บตัว มันเป็นสถานการณ์ที่ดูประหลาดมาก ฉันต้องเล่นเป็นตัวละครที่ซ่อนอะไรไว้มากมาย แต่เธอก็ยังมีผลอย่างมากต่อเนื้อเรื่อง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมฉันถึงอยากเล่นหนังเรื่องนี้ มันคือผลงานของแอนดรูว์"
อะแมนดายังรู้สึกว่าเธอสามารถเชื่อมโยงถึงเรื่องนี้ได้ เมื่อเธอเริ่มมีชื่อเสียง เธอก็เริ่มถูกรุกรานความเป็นส่วนตัวมากขึ้น "ในฐานะที่ฉันคือหนึ่งในหน้าตาของสังคม บางทีมันก็ทำให้ฉันรู้สึกราวกับตัวของฉันมีเพียงแค่เปลือกนอก" เธออธิบาย "แต่ก่อนมันเหมือนมีการแบ่งแยกเขตแดนชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้มันไม่มีเขตแดนนั้นแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้เล่นละครที่มีฉากเปลือยกายเล็กน้อย เดิมทีฉันรู้สึกปลอดภัยเพราะมันเป็นโรงละครที่มีเพียง 300 ที่นั่ง แต่แล้วกลับมีคนบางคนอัดวีดีโอเอาไว้และเผยแพร่มันลงบนอินเทอร์เน็ต ฉันรู้สึกราวกับฉันเปลือยเปล่าและควบคุมอะไรไม่ได้ ฉันเข้าใจแจ่มแจ้งว่าความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นเสมือนของหายาก และคุณก็ต้องเก็บรักษามันไว้ให้ดี"
ถึงแม้ว่าตัวของเธอจะเต็มไปด้วยปริศนา เดอะเกิล คือตัวละครที่มีความกล้ามากที่สุดในภาพยนตร์ เธอกล้าที่จะทำบางสิ่งบางอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดถึง เธอให้คุณค่าของตัวเองมากกว่าระบบของรัฐบาล
สำหรับคลอม ฟิโอเร แล้ว การปฏิเสธที่จะแบ่งปันข้อมูลทุกอย่างของตัวคุณกับผู้อื่น ถือเป็นความคิดของคนที่มีปัญหา "โดยปกติแล้ว ทุกคนย่อมมีความลับของตัวเอง ทุกคนเคยทำผิด มีแต่คนที่ไม่ปกติ โรคจิต หรือวิกลจริตเท่านั้นที่ไม่แบ่งปันเรื่องส่วนตัวของตัวเองให้ใครเลย แต่สำหรับเดอะเกิล เธอพูดเพียงว่า 'ไม่ใช่ว่าฉันมีอะไรจะซ่อนหรอกนะ ฉันแค่ไม่มีอะไรที่อยากให้เธอได้รับรู้' สำหรับผมแล้ว นี่คือประโยคที่เด็ดมาก มันเป็นคำที่ดูเรียบง่ายและสวยงาม"
การสร้างโลกเสมือนจริง
ดั่งเช่นผลงานที่ผ่านมาของ แอนดรูว์ นิโคล "ANON" เล่าเรื่องด้วยภาพที่สวยงาม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตของมนุษย์ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความซับซ้อนในการสร้างของภาพยนตร์
สิ่งเหล่านี้ได้ถูกนำเสนออยู่ในฉากที่นักสืบของเรากำลังสำรวจเอกสารด้วยระบบ Mind's Eye นักแสดงของเราต้องแสดงในฉากนี้ด้วยการทำปฏิสัมพันธ์กับไฟล์ที่พวกเขามองไม่เห็น นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนมากมายที่เราต้องทำเพื่อแสดงให้ผู้ชมเห็น Mind's Eye ที่เหล่าตัวละครของเราเห็นในระหว่างที่พวกเขากำลังเดิน
"มันเป็นหนังที่มีความซับซ้อนมากครับ" โอเวนกล่าว "พวกเราทุกคนล้วนต้องใช้เวลาปรับตัว เพราะเนื่องจากโลกแห่งนั้นเป็นโลกที่ตัวละครทุกตัวสามารถเข้าถึงบันทึกในอดีตของพวกเขาได้ พวกเขาต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่พวกเราในกองถ่ายมองไม่เห็น หลายสิ่งในภาพยนตร์พึ่งจะมาเสร็จในช่วงภายหลังการถ่ายทำ อะแมนดาและผมจึงต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นให้ชัดเจนมากที่สุดว่า ในฉากเหล่านั้นเธอจะเห็นอะไรบ้าง"
แอนดรูว์ได้สร้างโลกเสมือนจริงที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน แต่ยังแฝงไว้ด้วยความสง่างามของภาพยนตร์สไตล์ฟิล์มนัวร์ เมื่อนำองค์ประกอบเหล่านี้มาผสมผสานกับเรื่องราวของอนาคต ผลลัพท์ที่ออกมาจึงทำให้ผู้ชมคาดเดายุคของเรื่องไม่ได้ ดั่งที่เขาเคยทำไว้ใน "Gattaca"
แอนดรูว์อธิบายว่า "ผมไม่เคยพูดว่าภาพยนตร์คือเรื่องที่ถูกจัดฉากขึ้นมา เพราะผมชอบความคิดที่ว่าภาพยนตร์คือเรื่องราวที่เกิดในโลกที่อยู่คู่ขนานกับเรา โดยเฉพาะเมื่อเราสามารถหาจุดที่เชื่อมโยงเข้าถึงตัวเองได้ ผมต้องการให้ฉากหลังและเครื่องแต่งกายเป็นแบบปกติ ซึ่งมันจะทำให้เกิดความแตกต่างกับ Mind's Eye ที่ดูล้ำสมัย" เป้าหมายสุดท้ายของเขาคือ "สร้างภาพยนตร์ที่ทำให้พวกเขาสามารถนำตัวเองเข้าใปอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับตัวละครเหล่านั้นได้"
ขอบเขตของความเป็นส่วนตัว
แอนดรูว์ นิโคล ค้นพบปัญหานี้ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน และปัญหานี้ก็ติดอยู่ในใจของเขาไม่ใช่น้อยเพราะมันคือหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันของพวกเราทุกคน นั่นคือปัญหาของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี "ผมให้ความสนใจกับสมดุลย์ระหว่าง มนุษย์และเทคโนโลยี มาโดยตลอด ผมทบทวนคำถามนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะปัญหานี้มันไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง ในปัจจุบันนี้ เราทำได้แค่พยายามสร้างสมดุลย์ให้กับทั้งสองสิ่ง"
"คุณรู้ไหม มันง่ายที่จะพูดว่า 'เราต้องรู้เรื่องราวของทุกคนโดยละเอียด' เพราะพวกเราอยู่ในยุคที่ความอันตรายอยู่รอบตัว" ไคลฟ์กล่าว "แต่ความคิดดังกล่าวตามมาด้วยภัยอันใหญ่หลวง และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจซะเท่าไร บางครั้งเราอาจจะให้ข้อมูลส่วนตัวคนคุณให้กับคนรอบข้างมากเกินไป และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นโดยที่คุณเองก็ไม่รู้สึกตัว คุณไม่สามารถพูดได้ว่า 'คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง' พวกเราไม่มีทางทราบได้เลยว่าเราบอกข้อมูลส่วนตัวของเราไปมากแค่ไหนในทุกครั้งที่คุณกำลังท่องโลกอินเทอร์เน็ต"
"พวกเรากำลังเข้าสู่โลกที่ทุกคนไม่มีความลับและไม่มีความเป็นส่วนตัวอย่างช้าๆ ดูแค่จากช่วงชีวิตของผม การใช้ชีวิตของมนุษย์เราได้เปลี่ยนไปอย่างมาก และการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีไปซะทั้งหมด" ไคลฟ์อธิบายต่อ
"ผมหวังว่านี่จะเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้ทุกคนหันกลับไปตั้งคำถามให้กับตัวเองครับ" คลอมกล่าว "คำถามในมุมกว้างคือ เราจัดทำข้อกำหนดอะไรได้บ้างในแง่มุมของกฎหมาย การเก็บข้อมูลส่วนตัวจะมีขอบเขตอยู่แค่ไหน คุณธรรมและจริยธรรมจะมีผลต่อการปกครองที่ดีและการป้องกันการเกิดอาชญากรรมได้อย่างไรและเมื่อไร สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการบอกผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้"
ความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ประเมินค่าไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังไม่ค่อยให้ความสำคัญ แอนดรูว์ นิโคล ใช้ "ANON" เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามให้กับทุกคนว่า 'เมื่อไรกันทีุ่คณจะคิดได้ว่าคุณบอกข้อมูลของคุณมากเกินไป'
"สิ่งที่น่าสนใจของการต่อสู้เพื่อความเป็นส่วนตัว" แอนดรูว์กล่าว "นั่นคือเราพ่ายแพ้ เราไม่ได้แม้แต่ต่อสู้ด้วยซ้ำ เราป่าวประกาศเรื่องส่วนตัวของเราออกไปโดยไม่แม้แต่จะขัดขืน และ 'ANON' ก็จะทำให้คุณเห็นถึงจุดจบของการต่อสู้นั้น"
ทีมสร้างและนักแสดง
ไคลฟ์ โอเวน — ซัล ฟรีแลนด์
ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์และเจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำ ไคลฟ์ โอเวน เป็นนักแสดงที่โด่งดังในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เขาสามารถเล่นหนังได้หลากหลายแนว แสดงถึงความเป็นนักแสดงที่มากด้วยฝีมือ การแสดงของเขาใน "Croupier" จาก ไมค์ ฮอดจ์ ได้อย่างน่าจดจำ ในปี 2005 เขาได้พิสูจน์ฝีมือการแสดงของตัวเขาด้วยการคว้ารางวัลลูกโลกทองคำ และได้รับการเสนอชื่อในงานประกาศผลรางวัลออสการ์จากบท แลรี่ ในผลงานของ ไมค์ นิโคล "Closer" ที่ร่วมแสดงโดย จูเลีย โรเบิร์ตส์, จู๊ด ลอว์ และ นาตาลี พอร์ตแมน
โอเวน คือนักแสดงชายสัญชาติอังกฤษ เข้าสู่วงการการแสดงด้วยผลงานในภาพยนตร์โทรทัศน์ของอังกฤษและอเมริกา ในปี 1991 เขาได้ประสบความสำเร็จจากทีวีซีรีย์ของอังกฤษ Chancer ผลงานอื่นๆ ของเขาจากรายการทีวีอังกฤษประกอบไปด้วย Second Sight ทางช่อง BBC และ Mystery! ทางช่อง PBS
โอเวนเปิดตัวในวงการภาพยนตร์ด้วยผลงานการกำกับของ บีแบน คิดรอน "Vroom" ในปี 1988 หลังจากนั้น ในปี 1991 เขาได้แสดงในเรื่อง "Close My Eyes" ของผู้กำกับ สตีเฟน โปเลียคอฟ ต่อมาเขาได้รับบทเป็นชายรักร่วมเพศในประเทศเยอรมันก่อนเกิดสงครามใน "Bent" ของผู้กำกับ ซีน แมทิส ในปี 2001 และ 2002 เขาได้เล่นในภาพยนตร์ตลกของ โจเอล เฮิชแมน "Greenfingers" ภาพยนตร์ของ ไมค์ ฮอดจ์ "Croupier" และผลงานชิ้นเอกของ โรเบิร์ต อัลต์แมน "Gosford Park"
ผลงานในช่วงต่อมาของโอเวน ล้วนแต่ทำให้ชื่อของเขาเฉิดฉายมากขึ้น เขาได้แสดงร่วมกับ แองเจลิน่า โจลี่ ในภาพยนตร์สงคราม โรแมนติกดราม่า "Beyond Borders" ภาพยนตร์ระทึกขวัญของ ไมค์ ฮอดจ์ "I'll Sleep When I Am Dead" ภาพยนตร์สงคราม แนวแอคชั่นดราม่า "King Arthur" ภาพยนตร์ที่รวมตัวนักแสดงอย่าง บรูซ วิลลิส, เบนิซิโอ เดล โทโร่, โรซาริโอ ดอว์สัน, และ เจสสิก้า อัลบ้า "Sin City" ภาพยนตร์ระทึกขวัญของ สไปค์ ลี "Inside Man" ที่ร่วมแสดงโดย เดนเซล วอชิงตัน และ โจดี้ ฟอสเตอร์ และผลงานชิ้นเอกของ อัลฟอนโซ่ คัวรอน ที่เต็มไปด้วยความดุเดือดและมาพร้อมกระแสคำชมมจากนักวิจารณ์ "Children of Men" และล่าสุดเขาได้ปรากฏตัวใน "Valerian and the City of a Thousand Planets"
ผลงานล่าสุดทางจอโทรทัศน์ของเขาคือ The Knick ทางช่อง Cinemax ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ สตีเว่น โซเดอร์เบิร์ก โดยตัวเขาเองก็เป็นผู้อำนวยการสร้างซีรีย์นี้เองด้วย การแสดงของเขาในบทบาทของ ด็อกเตอร์ จอห์น แทคเครี ทำให้เขาได้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำในปี 2014
อะแมนดา ไซเฟร็ด — เดอะเกิล
อะแมนดา ไซเฟร็ด คือหนึ่งในนักแสดงสาวที่มีสเน่ห์ดึงดูดเป็นอันดับต้น ๆ คนหนึ่งของฮอลลีวูด
เธอได้แสดงร่วมกับ อีธาน ฮอว์ก ในภาพยนตร์ของ พอล ชเรเดอร์ "First Reformed" และซีรีย์ของ เดวิด ลินช์ Twin Peaks: Revival ซึ่งได้ออกอากาศไปเมื่อปี 2017
ในขณะนี้เธอได้รับบทแสดงใน "Mamma Mia: Here We Go Again" ซึ่งเป็นผลงานของ ออล ปาร์กเกอร์ เธอได้กลับมารับบทของ โซฟี่ ลูกสาวของ ดอนน่า (เมอรีล สตรีพ) อีกครั้งหนึ่ง ภาพยนตร์นี้ในภาคแรกฉายในปี 2008 สามารถทำรายได้ปทั่วโลกสูงถึง 600 ล้านเหรียญ ภาคใหม่นี้มีกำหนดฉายที่สหรัฐในวันที่ 20 กรกฎาคม 2018ในปี 2012 เธอได้แสดงในภาพยนตร์ของสตูดิโอ Universal "Les Miserables" เธอได้รับบทเป็น โคเซท แสดงร่วมกับ แอน แฮทธาเวย์, ฮิวจ์ แจ็คแมน, และ รัสเซล โครว์ โดยมี ทอม ฮูปเปอร์ เป็นผู้กำกับ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงลูกโลกทองคำ และสามารถกวาดรายได้สูงถึง 400 ล้านเหรียญทั่วโลก
ในปี 2011 ไซเฟร็ดแสดงร่วมกับ จัสติน ทิมเบอร์เลค ในภาพยนตร์แนวไซไฟ แอคชั่นระทึกขวัญ "In Time" กำกับและเขียนบทโดย แอนดรูว์ นิโคล
ในปี 2009 ไซเฟร็ดแสดงในภาพยนตร์ของค่าย Fox "Jennifer's Body" เขียนบทโดย ดิอาโบล โคดี้ (ผู้เขียนบท Juno) เธอแสดงเป็นเพื่อนรักของตัวเอกหญิง (เมแกน ฟ็อกซ์) ที่ไล่ฆ่าเด็กหนุ่มในเมืองแห่งหนึ่ง
อะแมนดา ไซเฟร็ด เปิดตัวด้วยผลงานภาพยนตร์คอเมดี้ปี 2004 ที่เขียนบทโดย ทีน่า เฟย์ "Mean Girls" โดยเธอรับบทเป็น แคเรน สมิธ
คลอม ฟิโอเร — นักสืบชาลส์ แกททิส
คลอม ฟิโอเร คือนักแสดงมือเก๋า ผู้ได้รับบทบาทสำคัญในภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์หลายต่อหลายเรื่อง และทีวีซีรีย์ดังๆ มากมาย ความสามารถของเขาได้กลายเป็นที่รู้จักในปี 2014 ใน "Spider Man 2" และรับบทสำคัญใน "Jack Ryan: Shadow Recruit" นอกจากนั้นเขายังได้รับบทที่ท้ายทายที่สุดในผลงานของเช็คสเปียร์ King Lear ในโรงละครที่มีชื่อที่สุดในอเมริกาเหนือ Stratford Festival
ทางด้านผลงานบทจอโทรทัศน์ ฟิโอเรเป็นที่รู้จักดีที่สุดในการแสดงซีรีย์ของช่อง Fox เรื่อง 24 ช่วงซีซั่นที่ 7 รวมถึงมินิซีรีย์ของช่อง Showtime เรื่อง The Borgias และ Slings and Arrows เขามีผลงานทั้งทางจอแก้วและจอเงินมามากกว่า 130 เรื่อง รวมถึง "Thor", "Changeling" และภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์อย่าง "Chicago"
ล่าสุด เขาได้ปรากฏตัวในซีรีย์ของ Netflix "House of Cards"
แอนดรูว์ นิโคล — ผู้กำกับ / เขียนบท / อำนวยการสร้าง
แอนดรูว์ นิโคล เป็นคนเกิดที่ประเทศนิวซีแลนด์ เดิมทีเขาเป็น ผู้กำกับ/เขียนบท โฆษณาที่ลอนดอน ก่อนที่จะย้ายไปลอสแอนเจลิสเพื่อเข้าสู่วงการภาพยนตร์
"Gattaca" คือภาพยนตร์เปิดตัวภาพยนตร์ที่เขาทั้งกำกับและเขียนบทเอง นำแสดงโดย อีธาน ฮอว์ก , อูมา เธอร์แมน และ จู๊ด ลอว์ ภาพยนตร์ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขากำกับภาพยอดเยี่ยม และได้เข้าชิงลูกโลกทองคำในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
"The Truman Show" ที่นำแสดงโดย จิม แคร์รี่ คือผลงานที่เขาเป็นผู้เขียนบทและอำนวยการสร้าง ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 สาขา รวมถึงสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนิโคลยังได้รับรางวัล BAFTA ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่องนี้ด้วย
"S1mOne" ที่นำแสดงโดย อัล ปาชิโน คือภาพยนตร์เรื่องที่สองที่เขาเป็นคนกำกับ และเขายังเป็นคนเขียนบทและอำนวยการสร้างด้วย
นอกจากนั้นเขายังกำกับและเขียนบทให้กับ "Lord of War" ที่นำแสดงโดย นิโคลัส เคจ "In Time" ที่นำแสดงโดย จัสติน ทิมเบอร์เลค, อะแมนดา ไซเฟร็ด และยังเขียนบทให้กับภาพยนตร์ของ สตีเว่น สปีลเบิร์ก "The Terminal" ที่นำแสดงโดย ทอม แฮงค์ และ แคทเธอรีน ซีต้า โจนส์ ด้วย
Link Download
https://drive.google.com/file/d/14HC4eYmZY-2cUEZe4tWLZzh8i6b9-gYy/view?usp=sharing