กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--สวรส.
นักวิชาการเผยคนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวาน น้ำตาล ไอศกรีม น้ำอัดลม โดยมีอุบัติการณ์สูงแซงหน้าปัจจัยด้านพันธุกรรม พร้อมเสนอโรงเรียนแพทย์ให้จัดหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับโรคเบาหวานเข้าสู่หลักสูตรแพทย์ หนุนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านสุขภาพสร้างเครือข่ายกับสื่อสารมวลชน เพื่อการเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะประชากรกลุ่มรากแก้ว ที่เข้าถึงสื่อยาก
จากเวทีเสวนาเรื่องการวิจัยและกิจกรรมเพื่อแก้วิกฤตสุขภาพคนไทย (เบาหวาน) ในงาน “Thailand Research Expo 2007” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ มีวิทยากรให้เกียรติร่วมงานได้แก่ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา, ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา, นพ.ณรงค์ สหเมธาวัฒน์, นพ.วิโรจน์ เจียมจรัสรังสี และ รศ.สุพัตรา สุภาพ ดำเนินรายการโดย คุณกิตติ สิงหาปัด
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่าโรคเบาหวานเกิดจากการเสียสมดุลของการควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย และมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคอยู่ 2 ประเภท คือประเภทที่ 1 เป็นเบาหวานที่สืบทอดจากพันธุกรรม ซึ่งสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยงได้จากการใส่ใจในเรื่องการบริโภค ส่วนประเภทที่ 2 เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคโดยตรง หรือมาจากการบริโภคเกิน และการขาดการออกกำลังกาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเบาหวานประเภทที่ 2 นี้สามารถป้องกันได้ หากเราสามารถควบคุมพฤติกรรมการกิน การอยู่ของเราให้เหมาะสม เช่น การกินแบบพอดี มีผักรวมอยู่ในอาหารทุกมื้อ หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก ในผู้สูงอายุควรออกกำลังกายเบาๆ และควรเดินบ่อยๆ
ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านเบาหวานในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าโรคเบาหวานมีอุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลว่าโรคเบาหวานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องภาระการให้บริการ เนื่องจากจำนวนแพทย์ต่อจำนวนประชากรมีไม่เพียงพอ อีกทั้งโรคเบาหวานยังเป็นโรคที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด และใช้เวลาในการดูแลรักษานาน เพราะเป็นโรคเรื้อรัง และจะมีอาการรุนแรงขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง
“เท่าที่เคยเสนอข้อมูลค่าใช้จ่ายในกลุ่มเด็กพบว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 50,000 — 100,000 บาท ขณะที่ในผู้ป่วยสูงอายุจะมีภาวะโรคแทรกซ้อน จึงมีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก นับว่าเป็นความสูญเสียที่ควรป้องกันและมีมาตรการในการดูแลให้ผุ้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ขณะเดียวกันก็ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วย โดยต้องมีการดูแลเป็นทีมสหวิชาชีพ และควรมีการสร้างกลุ่มบุคลากรแบบทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งต่างๆ ระหว่างกัน รวมทั้งการศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ เพื่อชักชวนให้โรงพยาบาล ชุมชน ท้องถิ่น อบจ. อบต. เข้ามาร่วมมือกันดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวาน หากสร้างสิ่งเหล่านี้ได้จะทำให้เกิดอาสาสมัคร หรือกลุ่มจิตอาสาเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น”
รศ.สุพัตรา สุภาพ อาจารย์อาวุโส จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้ความรู้กับประชาชนผ่านสื่อต่างๆ จะช่วยให้ประชาชนได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวานมากยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นความรู้พื้นฐานเพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยง ป้องกันและดูแลโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
“หัวใจของการสื่อสารคือการสร้างเครือข่าย ซึ่งในที่นี้หมายถึง โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รายการวิทยุทั่วไป วิทยุชุมชน รวมทั้งสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะการให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพกับประชากรกลุ่มรากแก้ว ที่เข้าถึงสื่อยาก บางหมู่บ้านอาศัยวิทยุชุมชน เพื่อทราบข่าวสารต่างๆ โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างเครือข่ายกับสื่อ เพื่อนำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องอื่นๆ และอาจมีบุคลากรด้านสื่อมวลชนมาร่วมเป็นกรรมการ หรือคณะการทำงาน ส่วนบุคลากรด้านการศึกษา อาทิ นักวิชาการ อาจารย์ต่างๆ ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าจะช่วยเผยแพร่ข่าวสารสู่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อสร้างความหวังและกำลังใจในการดูแลรักษาตนเองให้กับผู้ป่วย และเพื่อไม่ให้อุบัติการณ์ของโรคเบาหวานสูงขึ้นไปมากกว่านี้”
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีการตื่นตัวเรื่องการป้องกันโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะโรงพยาบาลควรเข้ามามีบทบาทเรื่องการส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น ทั้งการให้ความรู้เรื่องโรคกับผู้ป่วย การรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพให้กับประชาชน ส่วนหน่วยงานภาครัฐควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเพื่อลดจำนวนของผู้ป่วยเบาหวานอย่างจริงจัง โดยการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยจากความอ้วนและเบาหวาน เช่น กระทรวงศึกษาธิการควรสอดแทรกหลักสูตรเกี่ยวกับโภชนาการและการออกกำลังกาย เพื่อให้ความรู้กับเด็กในการเลือกบริโภคอาหารชนิดต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขควรให้การสนับสนุนด้านสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจกรองและการรักษาอย่างเหมาะสม
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
โทร.02-2701350 - 4 ต่อ 105
Email:pr@hsri.or.th