กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--
วันนี้คงไม่มีกระแสข่าวไหนจะใหญ่และต้องติดตามเท่ากับ "สงครามการค้า" ระหว่างสองชาติมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่กำลังตั้งกำแพงภาษีใส่กัน เพราะต่างฝ่ายต่างทำเพื่อรักษา "ประโยชน์" ของประเทศตนเอง ไม่มีใครยอมเสียเปรียบ หรือยอมให้คนในประเทศตนเองเสียประโยชน์อย่างเด็ดขาด
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทย เพราะไม่ว่าสงครามครั้งนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผลกระทบย่อมเกิดกับทุกประเทศที่ทำการค้าการขายกับทั้งสองประเทศอยู่แล้ว เห็นได้ชัดเจนจากการที่สหรัฐกำลัง "กดดัน" ไทยให้เร่งพิจารณาเรื่องการนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่จีนประกาศเรียกเก็บภาษี 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 93,690 ล้านบาท กับสินค้า 128 รายการที่นำเข้าจากสหรัฐ โดยมีสินค้าเนื้อหมูเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากหลายประเทศซึ่งมีจีนรวมอยู่ด้วย
กำแพงภาษีที่จีนตั้งไว้สูงลิ่วทำให้หมูมะกันไม่อาจเข้าทำตลาดในจีนได้เหมือนแต่ก่อน ร้อนถึงสหรัฐที่ต้องหาทางแก้ปัญหาเพราะสินค้าเนื้อหมูที่ส่งออกไม่ได้นี้ก่อความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมหมูของสหรัฐอย่างฉับพลัน จากราคาหมูขุนมีชีวิตที่ 32-35 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้ราคาหล่นฮวบเหลือเพียง 25-26 บาทต่อกิโลกรัม
ราคาที่ร่วงลงไปกว่า 25% นี้เกิดเป็นความกดดันในประเทศ และกลายเป็นแรงกดดันที่มีต่อประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะไทยที่สหรัฐได้เคยร้องขอให้พิจารณาเรื่องนี้มาก่อนตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนสหรัฐ เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา และเคยสังญิงสัญญาว่าจะพิจารณาเรื่องนี้
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้ทวงสัญญานี้กับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ไทยเร่งพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูสหรัฐ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย จนนายกรัฐมนตรีต้องมีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดโดยมีหน่วยงานต่างๆ ทำการศึกษาเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งฝ่ายไทยได้ยืนยันกับสหรัฐว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังศึกษาถึงข้อดีข้อเสียในเรื่องดังกล่าวอยู่ คาดว่าจะได้ข้อสรุป ในเร็วๆ นี้ และจะแจ้งให้สหรัฐทราบต่อไป
หากแต่ความกังวลในเรื่องนี้หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อ นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะไทยเข้าร่วมประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council : TIFA JC) ในระหว่างวันที่ 9-10 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา
การเดินทางไปสหรัฐครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อวิตกว่า หากไทยยกผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กไปเจรจาว่าไม่ควรใช้มาตรการนี้กับไทยเพราะไทยส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมไปสหรัฐน้อยมาพูดคุย ก็จะทำให้สหรัฐยกเรื่องการขอให้ไทยเปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐเป็นการแลกเปลี่ยน
หากการณ์เป็นดังนั้นจริงอย่างที่คาด ผู้เจรจาฝ่ายไทยเราก็ต้องรอบคอบ ฉลาด และรู้ทันเกมส์ของสหรัฐที่ต้องทำทุกทางเพื่อให้ได้ประโยชน์กับฝ่ายตนเองที่สุด ไทยเองก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งประโยชน์ของประชาชนไทย ที่มีสิทธิ์ในการปกป้องตนเองจากอันตรายของสารเร่งเนื้อแดงที่แฝงมากับเนื้อหมูของสหรัฐ ที่เปิดให้เกษตรกรสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูได้อย่างเสรี ในขณะที่ประเทศไทยห้ามใช้สารนี้อย่างเด็ดขาด โดยก่อนหน้านี้ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำชัดว่า กรมปศุสัตว์ยึดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ที่ห้ามผู้เลี้ยงผสมสารเร่งเนื้อแดงในอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ และยังยืนยันคำเดิมคือ ไม่ให้นำเข้าหมูที่มีการใช้สารเร่งเนื้อที่เป็นสารอันตรายเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ต้องมองประโยชน์ของเกษตรกรในประเทศเป็นสำคัญ ให้เหมือนกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ มุ่งปกป้องเกษตรกรสหรัฐด้วยการ "มองเกษตรกรรม คือ อนาคตของสหรัฐ" จึงทำทุกวิถีทางเพื่อสนับสนุนให้สามารถส่งสินค้าเกษตรออกไปขายทั่วโลก และต้องไม่ลืมว่าวันนี้หมูไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติหมูล้นตลาด ปริมาณเกินกว่าความต้องการบริโภควันละกว่า 3,000-8,000 ตัว ทำให้ราคาหมูตกต่ำต่อเนื่องมาร่วม 10 เดิอน ถึงขั้นต้องลดปริมาณหมูในระบบ ด้วยการนำลูกหมูหย่านมไปทำหมูหัน ต้องปลดแม่พันธุ์หมูก่อนเวลา เกษตรกรต้องขายหมูราคาถูกเพื่อกระตุ้นการบริโภค
คำถามคือ วิกฤติที่เกษตรกรทั้งประเทศต้องร่วมมือและช่วยกันแก้ปัญหาด้วยตัวเองนี้ ยังหนักหนาไม่พออีกหรือ หากมีหมูสหรัฐที่มีต้นทุนต่ำกว่า มีความสามารถทางการตลาดที่แข็งแกร่งกว่ามาถล่มปศุสัตว์ไทยอีก แล้วเกษตรกรไทยจะอยู่อย่างไร และไม่เพียงคนเลี้ยงหมู 195,000 ราย จะเดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกว่า 2 แสนรายด้วย ซึ่งคนเหล่านี้ก็คือประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้องด้วยเช่นกัน
วันนี้ทุกประเทศต่างปกป้องประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะสหรัฐหรือจีน ไทยเราเองก็ต้องปกป้องประโยชน์ของคนในประเทศทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรไม่ต่างกัน ขอเพียงรัฐบาลเข้มแข็ง และยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้อง ไม่เอาใจสหรัฐจนลิมคนไทยและเกษตรกรไทยก็พอ