กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--มหาวิทยาลัยศิลปากร
เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ว่าฯ เพชรบุรี "นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี" ให้เกียรติเป็นประธานพร้อมลงนามความร่วมมือโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร กับ ดร.ประสพชัย พสุนนท์ รองอธิการบดี จาก มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายสุเทพ สงวนคัมธรณ์ พัฒนาการจังหวัดเพชรบุรี นายธานินทร์ ถิตตยานุรักษ์ หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YEC หอการค้าจังหวัดเพชรบุรี เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว ในบันทึกข้อตกลงที่ว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ระหว่างจังหวัดเพชรบุรี เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมระดมพลสร้างแผนปักหมุดโมเดล "บ้านเพชรเพลินดิน" ยกระดับการท่องเที่ยวสู่คุณภาพชีวิตชุมชน ณ โรงแรมไมด้า ซี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี
นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ โดยเรามีโครงการเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร "เพชรเพลินดิน" ที่หมายถึงการดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นไปอย่างมีคุณค่าและเต็มไปด้วยความสุข ซึ่งนี่ก็คือความคิดของวัยรุ่นกลุ่ม YEC ที่เขาได้สะท้อนความต้องการมาอย่างมีคุณค่า ในการที่อยากจะเห็นบ้านเมืองของเขาได้มีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพักผ่อนที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตในชุมชนหลากหลายสาขา เช่น เกษตร อาหารพื้นถิ่น สุขภาพ วัฒนธรรมฯ พร้อมดึงผู้รู้ ผู้มีความสามารถ อย่างมหาวิทยาลัยศิลปากรเข้ามาเป็นกำลังร่วมขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ในเขตกลุ่มจังหวัด เพชรสมุทรคีรี (เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์) เพื่อส่งต่อต้นแบบการเรียนรู้นี้ให้ได้พัฒนาสู่วงกว้าง มุ่งกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้เติบโตถึงทุกภาคส่วนจนขยายทั่วทั้งประเทศ และก็จะนับเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลทางด้านการส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่น สานนโยบายรัฐบาลไทยนิยม ยั่งยืน อย่างต่อเนื่อง"
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ประสพชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางด้านบริการวิชาการและมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้การสนับสนุนลงพื้นที่ให้คำแนะนำชาวบ้านได้ในครั้งนี้รวมแล้วกว่า100คน โดยเราวางแผนในการทำงาน ไว้5-6กรอบงาน ทั้งเรื่องของ อัตลักษณ์ศิลปะและการออกแบบผลิตภัณฑ์ การแปรรูป การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ,การนำเสนอและการจัดจำหน่ายที่ครบวงจร เช่นอีเวนท์ เอ็กซ์โป ทั้งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อการพัฒนาเฉพาะจุดพื้นที่เท่านั้น แต่เราต้องการสร้างต้นแบบของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสามารถเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการอื่นๆเข้ามาดูได้ อีกทางหนึ่งตรงนี้เรายังถือเป็นโอกาสของนักศึกษาที่จะได้นำเอาความรู้ในห้องเรียนไปสู่ภาคปฏิบัติบนสภาพพื้นที่สังคมที่หลากหลาย ท้าทาย และยังเปิดโอกาสให้เขาได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆ ตรงนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่า ภายใต้การบริการวิชาการ ที่ได้ตอบแทนผู้ประกอบการในชุมชนให้เขาเลยเส้นความยากจนและนำไปสู่ความอยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข เกิดการท่องโดยชุมชน มีฐานรากเศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้วย
ด้าน นายวิษณุ ตราชูวณิช ประธานกิตติมศักดิ์ YECหอการค้าจังหวัดเพชรบุรี ผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการเพชรเพลินดิน กล่าวว่า " โครงการเพชรเพลินเดิน จะสามารถเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการในเขตจังหวัด "เพชรสมุทรคีรี" ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงแหล่งในการพัฒนา ส่งเสริมและยกระดับพัฒนานวัตกรรมสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้อย่างจริงจัง ด้วยหัวใจหลัก คือ โครงการนี้ จะต้องไม่ได้ทำเพียงแค่ต้นน้ำ แต่ต้องมองถึงกลางน้ำและปลายน้ำ สู่การหาช่องทางจัดจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ให้ชุมชนได้สามารถมีตัวช่วยและพัฒนาได้ด้วยตนเองอย่างมีศักยภาพ และยั่งยืนอย่างแท้จริง"...