ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB+/Stable”

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2007 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจสินเชื่อให้เช่าแบบลีสซิ่ง (Leasing) เพื่อเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ตลอดจนการมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถในการขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรักษาระดับต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำ อันดับเครดิตได้พิจารณารวมถึงการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูดลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงของการกระจุกตัวของฐานลูกค้าและคุณภาพเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความเสี่ยงมากกว่าเมื่อเทียบกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยในระยะสั้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จะสามารถดำรงสถานะความเป็นผู้นำตลาดไปพร้อมกับรักษาต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทให้อยู่ในระดับต่ำได้ อีกทั้งจะสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ไม่ให้ถดถอยลงจากที่ทริสเรทติ้งคาดไว้และสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างและนโยบายสินเชื่อเพื่อบรรเทาผลขาดทุนจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนสมมติฐานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะยังคงให้การสนับสนุนทั้งในด้านธุรกิจและการเงินแก่บริษัทต่อไป
ทริสเรทติ้งรายงานว่า สินเชื่อของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง (รวมสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิ) เพิ่มขึ้น 17.8% จาก 4,092 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 4,819 ล้านบาทในปี 2549 โดยมีกำไรสุทธิ 82 ล้านบาทในปี 2549 ลดลงจาก 105 ล้านบาทในปี 2548 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นจาก 31 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 53 ล้านบาทในปี 2549 อย่างไรก็ตาม รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิ (หลังหักค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ให้เช่า) เพิ่มขึ้นเป็น 183 ล้านบาทในปี 2549 จาก 162 ล้านบาท และ 113 ล้านบาทในปี 2548 และ 2547 ตามลำดับ ผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากรายได้จากสินเชื่อใหม่ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งสร้างกำไรให้แก่บริษัทในระดับหนึ่ง จำนวนผู้ใช้บริการสินเชื่อลีสซิ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากธุรกิจสินเชื่อลีสซิ่งของไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน และญี่ปุ่น ส่งผลให้บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าแม้ว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์ด้านต้นทุนการดำเนินงานก็ตาม โดยในช่วงปี 2542-2549 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 15% น้อยกว่าคู่แข่งซึ่งอยู่ที่ระดับ 20%-30%
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยถดถอยลงในปี 2549 หลังจากที่ดีขึ้นจากการตัดหนี้สูญในปี 2548 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) ต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) เพิ่มขึ้นจาก 4.2% ในปี 2548 เป็น 5.4% ในปี 2549 และ 7.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 นอกจากนี้ สินเชื่อที่จัดอยู่ในชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (ค้างชำระ 31-90 วัน) เพิ่มขึ้นจาก 2.8% ของสินเชื่อรวมเป็น 5.8% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 คุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงเป็นผลจากการชะลอตัวของสภาพเศรษฐกิจของไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากคุณภาพเครดิตของลูกค้า บริษัทได้กำหนดโครงสร้างและใช้นโยบายสินเชื่อที่ระมัดระวัง ได้แก่ การเรียกเก็บเงินประกันการเช่า การรับประกันการซื้อคืนจากผู้จัดจำหน่าย และการแจ้งโอนการชำระหนี้จากลูกค้าของผู้เช่า อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของบริษัทยังคงเน้นลูกค้าธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ซึ่งทำให้บริษัทต้องเผชิญกับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง เป็นผู้นำในธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่ง โดยเน้นการให้สินเชื่อเช่าระยะยาวสำหรับเครื่องจักรและ อุปกรณ์อุตสาหกรรม บริษัทก่อตั้งในปี 2534 โดยความร่วมมือของสถาบันการเงิน 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บรรษัทเงินทุน ระหว่างประเทศ (International Finance Corporation -- IFC) และ Korea Development Financial Corporation (KDFC) เดิมชื่อ Korea Development Leasing Corporation (KDLC) ซึ่งเป็นบริษัทให้สินเชื่อให้เช่าแบบลีสซิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ จากการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้ดำเนินนโยบายการเป็นธนาคารแบบครบวงจร (Universal Banking) และมีแผนจะให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าระยะยาวสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ ดังนั้น ในปี 2547 ธนาคารจึงได้เพิ่มทุนใหม่ให้แก่บริษัทจำนวน 145.4 ล้านบาท โดยใช้วิธีซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วนของธนาคารและจากผู้ถือหุ้นอื่นที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ จากปี 2547-2550 ธนาคารได้ซื้อหุ้นของบริษัทเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นอื่น โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2550 ธนาคารได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 90% หลังจากที่ซื้อหุ้นจำนวน 3.3% จากผู้ถือหุ้นต่างชาติรายหนึ่ง จากการที่ธุรกิจการให้สินเชื่อเช่าแบบลีสซิ่งจำเป็นต้องอาศัยความรู้เฉพาะและประสบการณ์ที่แตกต่างจากการให้สินเชื่อโดยทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ ความร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจึงยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ