กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เร่งผลิต "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล" และ "บุคลากรการเงินยุคใหม่" รับความต้องการของตลาด และการเติบโตด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศไทย ผ่านการเปิด 2 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์และสถิติใหม่ล่าสุดรับเทรนด์โลก ในปีการศึกษา2561 ได้แก่ "หลักสูตรสถิติประยุกต์" และ "หลักสูตรคณิตศาสตร์การเงิน" โดยหลักสูตรสถิติประยุกต์ เน้นสอนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน ประกอบกับการใช้โปรแกรมและซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ทางสถิติเพื่อแก้ปัญหา และจัดการข้อมูล ในขณะที่หลักสูตรคณิตศาสตร์การเงิน จะเน้นการสอนกระบวนการทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน และการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมการเงิน
ผู้สนใจสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 ในรอบรับตรงร่วมกัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2101-2103 เว็บไซต์ http://math.sci.tu.ac.th
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า จากกระแสเทรนด์โลก และอิทธิพลของนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ อาทิ การจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า (Big Data) ที่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในส่วนการวิจัยและพัฒนา ที่สามารถประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยการจัดการชุดข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล เพื่อใช้พัฒนาแผนการตลาดของภาคธุรกิจ ตลอดจนใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้มหาศาล จึงเป็นที่มาของอาชีพใหม่มาแรงอย่าง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) อาชีพที่มีความต้องการในตลาดงานสูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา มีรายได้โดยเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 117,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,656,135 บาท โดยเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถจัดการ รวบรวม วิเคราะห์ และประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพสูงสุดในยุคปัจจุบัน ทำให้เข้าใจสภาพตลาด เข้าใจผู้บริโภค จัดการชื่อเสียงขององค์กร และประหยัดงบประมาณ ทั้งนี้ ในประเทศไทยปัจจุบัน มีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลอยู่ประมาณ 200 ราย ซึ่งสวนทางกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันมีสาเหตุหนึ่งมาจากการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของไทยยังคงมีจำนวนน้อย
รศ.ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงประเด็นความต้องดังกล่าวของตลาดแรงงานจึงเป็นที่มีของการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติ วิชาเอกสถิติประยุกต์ เพื่อตอบสนองในทุกภาคธุรกิจด้านการเงินและการจัดการข้อมูลในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้พัฒนาหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตร์ วิชาเอกการเงิน ที่มุ่งเน้นการสอนกระบวนการทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อแก้ปัญหาทางการเงิน และการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมการเงิน เพื่อตอบโจทย์การผลิตบุคลากรด้านคณิตศาสตร์การเงินยุคใหม่ ที่ต้องใช้งานนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ในการปฏิบัติงาน
ด้าน ดร.ขจี จันทรขจร อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า สำหรับการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสถิติประยุกต์ และวิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จะเน้นกระบวนการเรียนการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) ผ่านการจำลองสถานการณ์ตัวอย่างของภาคธุรกิจ อาทิ การศึกษาแบบจำลองการลงทุนทางด้านการเงินของภาคธุรกิจ การเปรียบเทียบนโยบายทางภาษีของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ เทคนิคเหมืองข้อมูลสำหรับการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติเพื่อปรับปรุงการแนะนำสินค้าให้ตรงกับความสนใจของผู้บริโภค โดยทั้งสองหลักสูตรมีรายละเอียด ดังนี้
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสถิติประยุกต์ มุ่งสอนเกี่ยวกับหลักสถิติ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการแก้ปัญหาจริง ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ อาทิ วิทยาศาสตร์ข้อมูลและการประยุกต์ ซอฟแวร์และคอมพิวเตอร์ทางสถิติ การจัดการข้อมูล เหมืองข้อมูลและธุรกิจอัจฉริยะ ตลาดการเงินและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจหลากมิติ อาทิ วางแผนการตลาด การประเมินพฤติกรรมผู้บริโภคเป้าหมาย การจัดกลุ่มข้อมูลลูกค้า การแนะนำสินค้า และการตรวจสอบความผิดปกติของข้อมูล โดยบัณฑิตสามารถต่อยอดองค์ความรู้สู่อาชีพต่างๆ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ นักวิเคราะห์การวางแผน วิจัยและประมวลผล นักวิเคราะห์ระบบงานคอมพิวเตอร์ งานด้านการควบคุมคุณภาพ ฯลฯ
- หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต วิชาเอกคณิตศาสตร์การเงิน มุ่งสอนเกี่ยวกับการศึกษากระบวนการทางคณิตศาสตร์และสถิติที่ใช้ในการแก้ปัญหาทางการเงินเป็นหลัก และการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมการเงิน ผ่านการเรียนรู้ในรายวิชาต่างๆ ทั้งแคลคูลัส คณิตศาสตร์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ คณิตศาสตร์การเงิน การวิเคราะห์ปริมาณทางการเงิน วิทยาศาสตร์ข้อมูลสำหรับคณิตศาสตร์การเงิน คณิตศาสตร์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ อนุพันธ์ทางการเงินเชิงคณิตศาสตร์ ฯลฯ ที่ช่วยให้ระบบการเงินของภาคธุรกิจหรือธนาคารสามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว โดยบัณฑิตสามารถทำงานธุรกิจการเงินยุคใหม่ ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นองค์ประกอบหลัก รวมไปถึงอาชีพต่างๆ อาทิ นักวางแผนการลงทุน (Investment Planner: IP) นักวิเคราะห์การลงทุน (Investment Analyst: IA) นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) นักวิเคราะห์ความเสี่ยง ฯลฯ
สำหรับสองหลักสูตรข้างต้น ทางสาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ มีแผนเปิดรับนักศึกษาเพื่อศึกษาต่อ จำนวน 50 คนต่อหลักสูตร ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2561 โดยเปิดรับใน 3 รอบ คือ รอบรับตรงร่วมกัน ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 รอบแอดมิชชั่นกลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2561 และ รอบรับตรงแบบอิสระ ระหว่างวันที่ 6-20 กรกฎาคม 2561 โดยสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ดร.ขจี กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440 ต่อ 2101-2103 เว็บไซต์http://math.sci.tu.ac.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/Samathtu