กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2561 เกิดอุบัติเหตุ 552 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 69 ราย ผู้บาดเจ็บ 589 คน รวม 5 วัน (11 – 15 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,001 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 323 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,140 คน สั่งการจังหวัดเพิ่มจุดตรวจและจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลัก เข้มงวดการตรวจความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และพนักงานขับรถ เน้นย้ำเจ้าหน้าที่เพิ่มความถี่ ในการเรียกตรวจ และประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากขับรถเร็วและการง่วงหลับใน พร้อมฝากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
นายดำรง ลิมาภิรักษ์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2561 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2561 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 552 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 69 ราย ผู้บาดเจ็บ 589 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 42.03 ขับรถเร็ว ร้อยละ 25.72 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.53 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.04 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.86 ถนน ใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.05 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 32.61 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 23.25 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,031 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,354 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 886,202 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 178,191 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 51,488 ราย ไม่มีใบขับขี่ 46,094 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (20 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี (6 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (27 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (11 – 15 เม.ย. 61) เกิดอุบัติเหตุ 3,001 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 323 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,140 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม หนองคาย หนองบัวลำภู และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (119 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา (19 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (136 คน)
นายดำรง ลิมาภิรักษ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นวันหยุดวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการเดินทางกลับ ทำให้เส้นทางสายหลักที่เชื่อมต่อจังหวัดต่างๆ และมุ่งสู่กรุงเทพมหานครมีปริมาณรถมาก ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้ประสานให้จังหวัดเพิ่มจุดตรวจและจุดบริการประชาชนบนเส้นทางสายหลัก เพื่อดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรและเปิดช่องทางพิเศษ โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางที่มีการจราจรแออัด นอกจากนี้ ให้จังหวัดร่วมกับขนส่งจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมบริการรถโดยสารประจำทางให้เพียงพอ ไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง เข้มงวดการตรวจ ความพร้อมของรถโดยสารสาธารณะ และพนักงานขับรถ รวมถึงกวดขันไม่ให้มีรถเสริมที่ผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ประชาชน ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถเข้าตรวจสอบสภาพรถ และแวะพักผ่อนคลายความเมื่อยล้าระหว่างเดินทาง ได้ที่จุดบริการศูนย์อาชีวะอาสา กว่า 252 แห่ง บนเส้นทางสายต่างๆ ทั่วประเทศ
นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า คาดว่า วันนี้เส้นทางสายหลักทั่วประเทศจะมีปริมาณรถหนาแน่น ศปถ.จึงได้กำชับให้ดูแลการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะเส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรองที่เป็นทางเลี่ยง ทางลัด ซึ่งผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วในการขับรถ ประกอบกับส่วนใหญ่เป็นเส้นทางตรง ระยะทางไกล โดยให้เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ/ด่านตรวจเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจ และประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มีสาเหตุจากขับรถเร็วและการง่วงหลับใน
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์บนเส้นทางสายหลัก พบว่า จุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นเส้นทางตรง ซึ่งในวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับ ซึ่งการท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในช่วง 3 - 4 วันที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ผู้ขับขี่เกิดความอ่อนล้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ.จึงได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาสาสมัครเข้มข้นการดูแลเส้นทางที่มีจุดเสี่ยงอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเฉพาะทางโค้ง และเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว ท้ายนี้ ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ขับรถเร็ว ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ เพื่อความปลอดภัย ควรหยุดพักรถทุก 1 – 2 ชั่วโมง รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย