กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการพัฒนาระบบริการการผลิตเนื้อหาการสอน Digital Content ด้วยการจัดทำห้องVideo – base Lesson ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยสะดวกในการใช้งาน เพื่อให้อาจารย์ผู้สอนได้มาสร้างเนื้อหาการสอนนำไปจัดกระบวนการเรียนการสอน ลดการสอนเนื้อหาเดิมซ้ำๆอีกทั้งเปิดช่องทางให้นักศึกษาเข้าถึงเนื้อหาเพื่อการศึกษาเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจก่อนบทเรียนและศึกษาเนื้อหาเดิมที่ยังไม่เข้าใจซ้ำได้
นายยุทธนา สุมามาลย์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ทำการศึกษาพัฒนาโครงการ และหัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาระบบการผลิตสื่อ Digital Content ในการนำไปใช้บนระบบ e - Learning KKU เผยว่า การพัฒนาระบบบริการการผลิตเนื้อหาการสอนDigital Content ด้วยการจัดทำห้อง Video – base Lesson ได้เกิดขึ้นจากนโยบายของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ. ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร ซึ่งต้องการพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนผู้สอนก็สามารถจัดเตรียมเนื้อหาที่มาจากสื่อต่างๆได้ตามความต้องการ จึงต้องมีการพัฒนา ห้อง Video – base Lesson ที่จะเป็นต้นแบบในการขยายผลไปตามคณะวิชาต่างๆได้ในอนาคต ทางศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน โดยกลุ่มวิจัยสถาบันจึงได้ทำการศึกษาปัญหาและข้อจำกัด เพื่อออกแบบและพัฒนาระบบการผลิตสื่อดิจิทัลคอนเทนต์บนระบบ e – Learning KKU รวมทั้งความพึงพอใจผู้ใช้งานระบบ มาตั้งแต่เดือน มกราคม 2560 พบว่าการนำระบบ Video – base Lesson ภายใต้แนวคิด Teach less learn more จะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการเรียนการสอนทั้งด้านความเข้าใจในเนื้อหาและการเข้าถึงเนื้อหาอีกทั้งผู้สอนจะสามารถเก็บรวบรวมเนื้อหาเพื่อการปรับปรุงพัฒนาเนื้อหาได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากเริ่มดำเนินโครงการก็ได้มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาศึกษาดูงานการพัฒนาระบบของเรา มาถึงขณะนี้อุปกรณ์ทุกอย่างพร้อมใช้งานแล้วและอยู่ในขั้นตอนการประชาสัมพันธ์เชิญชวนอาจารย์ให้มาใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น
ห้อง Video – base Lesson ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ภายในศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้ติดตั้งอุปกรณ์การบันทึกทั้งภาพ เสียง สื่อดิจิตอลทุกรูปแบบ ด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีการสร้างสื่อผสมคุณภาพสูงที่ชื่อ "WACOM" ให้อยู่ในไฟล์สำเร็จรูป mp4 Full HD เพื่อนำไปเก็บผ่าน Cloud Computing ก่อนการอัพโหลดมาใช้ผ่านระบบ LMS e – Learning KKU ที่ผู้สอนสามารถเรียกนำมาใช้ในระบบออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลารวมทั้งสามารถเปิดให้ผู้เรียนในรายวิชานั้นๆดูบทเรียนมาจากบ้านแล้วนำข้อสงสัยหรือแบบฝึกหัดมาซักถามหรือทำในห้องเรียน โดยระบบดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเพื่อใช้เวลาในชั้นเรียนน้อยลงแต่ได้ประโยชน์สูงสุด
สำหรับข้อจำกัดในด้านการใช้อุปกรณ์สร้างเนื้อหาของอาจารย์ที่มารับบริการ นายยุทธนา สุมามาลย์ เผยว่า ในส่วนนี้เราได้วางแนวทางไว้คือต้องการให้อาจารย์ได้มีความสะดวกมากที่สุดกล่าวคือ เราได้เลือกอุปกรณ์และวางระบบให้ง่ายต่อการเรียนรู้และใช้งาน ทั้งระบบสัมผัสหน้าจอ การแก้ไขปรับแต่งข้อมูลด้วยปากกาผ่านหน้าจอ นอกจากนั้น ในการมาใช้บริการเราจะมีเจ้าหน้าที่ไว้คอยให้คำแนะนำและบริการ สำหรับอาจารย์ที่อาจต้องการให้ทางศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอนจัดการฝึกทักษะเพิ่มเติมอย่างไรก็สามารถขอรับบริการได้ โดยเราคาดหวังที่อยากให้อาจารย์ได้ใช้เครื่องมือได้ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความสะดวกที่จะมาใช้บริการได้ตลอดเวลา สามารถเข้าไปสร้างสรรค์รูปแบบหรือปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาได้ตามความต้องการ
ห้อง Video – base Lesson เพื่อการผลิตเนื้อหาการสอน Digital Content ชั้น 6 อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เปิดทำการในวันเวลาราชการ โดยสามารถจองผ่านระบบออนไลน์ในเว็ปไซต์ของศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน( http://ilti.kku.ac.th) ที่จะมีคิวอาร์โค๊ตเพื่อให้สแกนแบบฟอร์มในการจองใช้บริการ หรือจะจองผ่านอีเมลล์ ilit.media@kku.ac.th นอกจากนี้ยังสามารถสอบถามรายละเอียดที่หมายเลขภายใน 42514-17