CRAFTS BANGKOK 2018 ก้าวสำคัญสู่การพัฒนางาน CRAFTS ของไทยในตลาดโลก

ข่าวบันเทิง Tuesday April 17, 2018 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการจัดงานแฟร์ใหญ่ๆ ที่น่าสนใจอยู่หลายงาน หนึ่งในนั้นคือ งาน CRAFTS BANGKOK 2018 สุดยอดงานแสดงและจำหน่ายงานหัตถศิลป์ระดับสากล ที่มาพร้อมแนวคิด "Social Craft Network" หรือ "หัตถศิลป์ไร้พรมแดน" ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวถึงการจัดงาน CRAFTS BANGKOK 2018 มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเครือข่าย สร้างคุณค่า และสร้างโอกาส เพื่อพัฒนางานหัตถศิลป์ไทยให้สามารถก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ว่า สำหรับในปีนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีจากครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก SACICT นักสร้างสรรค์ นักศึกษา และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานมากถึง 320 ราย อาทิ Korean Craft and Design Foundation (KCDF) สาธารณรัฐเกาหลี / National Taiwan Craft Research Institute (NTCRI) ไต้หวัน /ATELIER D'ART DE FRANCE ประเทศฝรั่งเศส และผลงานจาก Agency for Promotion of Indigenous Crafts ประเทศภูฏาน มาร่วมจัดแสดงในส่วนของ International Cooperation Area ด้วย การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นเวทีสำคัญสำหรับคนทำงานหัตถกรรมยุค 4.0 คือ มีการเชื่อมโยงกันแบบไร้ขีดจำกัด ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน เกิดการพัฒนาแนวคิดกระบวนการ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกัน มีการผสมผสานในเรื่องสาขาความเชี่ยวชาญ ภูมิประเทศ หรือวัฒนธรรม ทำให้งานศิลปหัตถกรรมเกิด "คุณค่าร่วม" สามารถเข้าถึงการใช้งานในวิถีชีวิตปัจจุบัน และต่อยอดสู่อนาคตอย่างยั่งยืน ชัชรา เถกิงศักดิ์วัฒนา จากชลบุรี เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมงานที่ชื่นชอบงานคราฟท์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะงานผ้าและเครื่องประดับ เธอเดินทางมาจากจังหวัดชลบุรีเพื่อมาร่วมชมงานและบอกถึงความประทับใจว่า "งานนี้มีของดีไซน์ใหม่ๆ เยอะมากค่ะ สถานที่จัดงานก็สะดวกสบาย รูปแบบการจัดงานสวยดีและเดินชมได้ง่าย ปกติชอบเดินชมงานแนวนี้อยู่แล้ว มีหลายร้านเลยที่ไม่เคยเห็นในงานอื่นๆ เป็นร้านใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ โดยส่วนตัวชอบงานผ้าและเครื่องประดับ นี่ก็ได้ชิ้นงานที่ถูกใจกลับไปนะคะ แถมได้งานไม้แกะสลักไปตกแต่งบ้านเพิ่มด้วย อยากบอกว่างานคราฟท์ที่มาออกร้านในงานนี้สวยมาก และราคาจับต้องได้ ไม่ได้แพงเกินไป รูปแบบดีไซน์ก็น่ารัก เรียกว่าฉีกรูปแบบงานจากที่เราเคยคิดว่ามันเป็นเพียงของที่เอาไว้โชว์ กลายมาเป็นของที่ใช้งานได้จริงค่ะ ... ถ้าปีหน้ามีจัดงานอีกก็จะมาชมอีกค่ะ" เช่นเดียวกับพนักงานธนาคารสาว ผู้หลงใหลในงานสิ่งทอ สุจินต์ คณาธารทิพย์ เมื่อทราบข่าวการจัดงานนี้จากเฟซบุ๊ก เธอจึงไม่รีรอที่จะเลือกใช้เวลาในช่วงวันหยุดมาเดินเที่ยวงาน และได้เลือกซื้องานผ้าและสิ่งทอติดไม้ติดมือกลับบ้านไปหลายชิ้น "มาเดินงานของ SACICT สองครั้งแล้ว ปีที่แล้วก็มา ปีนี้จัดงานได้ดีกว่า ร้านค้าดูเป็นระเบียบ เดินชมงานได้ง่าย สถานที่จัดงานก็สะดวก ไม่ได้เอารถมาก็ไม่ต้องกังวลเรื่องวนหาที่จอดเพราะสามารถนั่งรถไฟฟ้า BTS มาได้สะดวก สินค้าในงานมีดีไซน์หลากหลายดีค่ะ โดยส่วนตัวชอบงานผ้า ก็ได้ไปหลายชิ้น ราคาอาจจะค่อนข้างสูงอยู่นิดนึงแต่ก็รับได้ เข้าใจว่าเป็นงานฝีมือ เป็นงานละเอียด ต้องใช้เวลาในการสร้างสรรค์" งานนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของบรรดาแฟนคลับคนรักคราฟท์ วัยทำงานรุ่นใหญ่แล้ว แต่คนทำงานรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย อย่างอรจิรา อุชุปาละ สาวน้อย Textile Designer บริษัทเอกชน "สนใจงานด้านนี้อยู่แล้ว เคยมาเดินงานนี้ ติดตามมาทุกปี ปีนี้งานก็น่าสนใจดีค่ะ ทุกปีจะได้ของติดมือกลับบ้านไปหลายชิ้นเลย สนใจงานด้านเท็กซ์ไทล์ค่ะ ซึ่งงานนี้ก็นำเอาพวกงานผ้า งานคราฟท์หลายอย่างมารวมไว้ในงานเดียวกัน รู้สึกดีที่ SACICT เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการพัฒนางานพวกนี้ค่ะ ปีนี้รู้สึกว่างานผ้าและของหลายๆ อย่างจะสวยขึ้นด้วย ไม่ดูเป็นชิ้นงานโอทอปหรืองานแนวพื้นบ้านทั่วไปเหมือนก่อนๆ มีการพัฒนารูปแบบสินค้า การดีไซน์ ทำให้สามารถนำมาใช้งานได้จริงและสวยขึ้น หลายชิ้นงานสามารถส่งออกได้แล้วด้วย ในฐานะดีไซน์เนอร์ก็มองว่าแนวโน้มของการพัฒนางานคราฟท์บ้านเราตอนนี้ดูน่าจะดีขึ้น พัฒนาแข่งขันได้อีกเยอะ เพราะเรามีจุดแข็งในเรื่องวัตถุดิบและแรงงาน แรงงานช่างฝีมือคนไทยมีฝีมือมาก สามารถสู้ในระดับโลกได้สบาย แต่ในเรื่องของการดีไซน์ ออกแบบ ให้สามารถใช้งานได้จริง เหมาะสมกับตลาดนั้น ดีไซน์เนอร์ต้องเข้ามาช่วยกันผลักดัน" นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งของการจัดงาน CRAFTS BANGKOK 2018 สุดยอดงานแสดงและจำหน่ายงานหัตถศิลป์ระดับสากล ที่ SACICT สามารถพัฒนาช่างศิลป์และผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ไทยให้สามารถก้าวเข้าสู่ตลาดหัตถศิลป์ หรืองานคราฟท์ของโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ และด้วยศักยภาพของสินค้าด้านศิลปหัตถกรรมของไทย ที่มีเอกลักษณ์ มีคุณภาพ รวมไปถึงการมีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ทำให้งานหัตถศิลป์ไทยมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นจุดขายที่สำคัญ เมื่อมีการต่อยอดสร้างสรรค์และพัฒนาให้มีมาตรฐาน จึงยิ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติทั่วโลกมากยิ่งขึ้น การันตีความสำเร็จได้จากตลอดระยะเวลาการจัดงาน 4 วัน มียอดผู้สนใจเข้าร่วมชมงานและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์มากถึง 17,000 ราย มีมูลค่าการซื้อขายมากกว่า 53 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 20.33 โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจ 5 อันดับ ได้แก่ (1) เครื่องทองโบราณ (2) งานเครื่องประดับเงิน-ทอง และเครื่องถม (3) งานผ้าย้อมคราม (4) งานจักสาน (เครื่องแขวนเครื่องตกแต่ง) และ (5) งานผ้าไหม จากสถิติดังกล่าวทำให้ทราบว่างานหัตถศิลป์ หรืองานคราฟต์นั้น กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สนใจสินค้าหัตถศิลป์ สามารถติดตามข้อมูลได้จากเว็บไซต์ www.sacict.or.th หรือ www.facebook.com/sacict หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1289
แท็ก bangkok   ไบเทค  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ