กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. กระทรวงแรงงาน ติวทหารเกณฑ์ สร้างวิชาชีพช่าง หลังปลดประจำการมีงานทำ มีรายได้ดูแลตนเองและครอบครัว
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายเร่งด่วน (Agenda Based) ในการพัฒนาทักษะฝีมือ ส่งเสริมการมีงานทำของคนทุกเพศ ทุกวัย กพร. กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ จึงเร่งดำเนินการฝึกอบรมให้กลุ่มต่างๆ โดยทหารเกณฑ์เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากนายจ้างและสถานประกอบกิจการ มีความต้องการรับทหารเข้าทำงานหลังปลดประจำการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีระเบียบ วินัยดี ใฝ่เรียนรู้ และยิ่งได้รับการพัฒนายิ่งมีมาตรฐานสูงในการทำงานอีกด้วย กพร.จัดฝึกอบรมให้ทหารเกณฑ์ ให้มีความรู้ ความสามารถเป็นที่ต้องการตลาดแรงงาน สามารถทำงานในสถานประกอบกิจการหรือประกอบธุรกิจส่วนตัวได้หลังปลดประจำการ ซึ่งดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลง (MOA) ระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงแรงงาน ว่าด้วยการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการ
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่ามอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทั่วประเทศ ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของกองทัพในพื้นที่จัดฝึกอาชีพตามความต้องการของทหารก่อนปลดประจำการ เช่น ช่างปูนปั้นไม้เทียม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อเกษตร ช่างการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก บริการอาหารและเครื่องดื่ม และการประกอบอาหารไทย เป็นต้น ระยะเวลาฝึกอบรมจะมีตั้งแต่ 18 -30 ชั่วโมง อบรมรุ่นละ 20 คน โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ ดำเนินการฝึกอบรมไปแล้ว 2,905 คน จากที่ตั้งเป้าเหมายไว้ที่ 3,000 คน คาดว่าจะฝึกอบรมได้เกินเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน
ล่าสุดสนพ.นครพนม ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับ กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่3 ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมืองนครพนม เปิดฝึกอาชีพให้กับทหารเกณฑ์เพื่อจะได้นำความรู้ที่ ได้รับจากการฝึกไปพัฒนาตนเองประกอบอาชีพหลังปลดประจำการ จำนวน 2 หลักสูตรได้แก่ สาขาช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ (ระยะเวลาฝึกอบรม 30 ชั่วโมง) มีทหารเกณฑ์ให้ความสนใจเข้ารับการฝึกอบรม รวมจำนวน 68 คน เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าหากมีโอกาสได้รับใช้ชาติ ก็จะเป็นเพิ่มโอกาสในการพัฒนาตนเองในทุกด้าน รวมไปถึงทักษะอาชีพ ซึ่งจะเป็นวิชาติดตัว สามารถสร้างรายเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวหลังปลดประจำการ
"นอกจากกลุ่มทหารก่อนปลดประจำการ กพร. ยังดำเนินการฝึกอาชีพให้กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่กลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติ ผู้ผ่านการบำบัดยาเสพติด ผู้ต้องขัง/เยาวชนสถานพินิจ ทหารบาดเจ็บและทุพพลภาพ ชนกลุ่มน้อย คนพิการ/ผู้ดูแลคนพิการ แรงงานนอกระบบ และแรงงานตามโตรงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลและกระทรวงแรงงานในการสร้างโอกาส สร้างทักษะ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนในชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศต่อไป" อธิบดีกพร. กล่าว