กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส
สภาวะตลาดวันที่ 17 เมษายน 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,340.50-1,349.38 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,850 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,900 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFJ18 อยู่ที่ 19,900 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 60 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,960 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.30 น. ของวันที่ 17/04/61)
แนวโน้มวันที่ 18 เมษายน 2561
ราคาทองคำในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันอุปสงค์หรือความต้องการทองคำในหมู่ผู้บริโภคชาวเอเชีย โดยสถานีโทรทัศน์ CCTV อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมทองคำจีน (China Gold Association)ว่า การบริโภคทองคำของจีนในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 5.44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านี้เหลือ 284.97 ตัน ขณะที่รอยเตอร์รายงานว่าการบริโภคทองคำของอินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่อันดับสองรองจากจีน ถึงแม้จะปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจากแรงซื้อทองคำก่อนเทศกาลสำคัญอย่าง Akshaya Tritiya แต่ปริมาณการบริโภคทองคำของอินเดียยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเนื่องจากระดับราคาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่อยู่ในสถานะ wait-and-see สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ทองคำขาดปัจจัยหนุนเพิ่มเติม สำหรับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซียอันเนื่องมาจากการโจมตีซีเรียเริ่มคลี่คลายลงชั่วคราว ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะบริหารของสหรัฐ กล่าวว่า ปธน.ทรัมป์ได้เลื่อนการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียและอาจจะไม่อนุมัติการคว่ำบาตร ถ้ารัสเซียไม่ทำการโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหม่หรือทำการยั่วยุอื่นๆ อย่างไรก็ดีสถานการณ์ดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูงส่งผลให้นักลงทุนยังคงถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยซึ่งช่วยพยุงราคาทองคำไว้ สะท้อนจากข้อมูลของคณะกรรมการ CFTC ของสหรัฐ เมื่อวันศุกร์ พบว่ากองทุนเฮดจ์และผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสถานะซื้อสุทธิสัญญาฟิวเจอร์สทองคำ 363 สัญญาสู่ 138,212 สัญญา ด้านปริมาณการถือครองทองคำของ ETFs ทั่วโลกซึ่งเก็บรวมรวมข้อมูลโดย Bloomberg เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2556 นำโดยกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุน Xetra-Gold ซึ่งจดทะเบียนในแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีและกองทุน Bosera Gold ETFของจีน แนะนำหากการดีดตัวกลับไม่มาก หรือหากไม่สามารถยืนเหนือ 1,354 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีโอกาสเกิดแรงขายกลับลงมา แนะนำว่าจุดที่น่าสนใจในการเข้าซื้อยังเป็นบริเวณแนวรับ 1,333-1,323 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า ราคายังคงแกว่งตัวในกรอบ จึงแนะนำรอเข้าซื้อหากราคาย่อตัวลงมาและไม่หลุดบริเวณแนวรับ ทั้งนี้ ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,333 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังมีโอกาสทดสอบแนวต้านที่ 1,354 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากหลุดแนวรับแรกให้รอเข้าซื้อที่แนวรับถัดไปบริเวณ 1,323 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับการทำกำไรให้ดูว่าราคาจะผ่านแนวต้านได้หรือไม่ แต่ถ้าราคาทองคำสามารถทะลุผ่านแนวต้าน และรักษาระดับยืนเหนือกรอบราคาได้ แนะนำนักลงทุนที่ถือทองคำอยู่ให้ถือต่อไป ซึ่งราคาทองคำน่าจะสามารถขยับตัวขึ้นต่อไปได้ และหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับแนะนำนักลงทุนสามรถทำการเข้าซื้อเก็งกำไรระยะสั้นจะการดีดตัว
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,333 (19,650บาท) 1,323 (19,500บาท) 1,313 (19,350บาท)
แนวต้าน 1,354 (20,000บาท) 1,366 (20,150บาท) 1,375 (20,300บาท)
GOLD FUTURES (GFJ18)
แนวรับ 1,333 (19,770บาท) 1,323 (19,630บาท) 1,313 (19,480บาท)
แนวต้าน 1,354 (20,090บาท) 1,366 (20,270บาท) 1,375 (20,400บาท)
หากต้องการทราบทิศทางราคาทองคำและแนวทางลงทุนทองคำ ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมที่ปรึกษาการลงทุนด้านโกล์ดฟิวเจอร์ส โทร.02-687-9999