กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น1.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่80.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 83.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศโจมตีเป้าหมายที่ตั้งคลังอาวุธเคมีในซีเรีย และต่อมานายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกแถลงการณ์เห็นชอบในการโจมตีร่วมกัน เพื่อตอบโต้รัฐบาลของนายบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรียที่ใช้อาวุธเคมี ปราบปรามฝ่ายกบฏ ในวันที่ 7 เม.ย. 61 ซึ่งเป็นการผิดหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และอังกฤษ ยิงขีปนาวุธจำนวน 105 ลูก โจมตีฐานผลิตอาวุธเคมีที่เมือง Douma ในซีเรีย เมื่อวันเสาร์ที่ 14 เม.ย. 61 เป็นยุทธการโจมตีเพียงระลอกเดียวในวงจำกัด
- 14 เม.ย. 61 ทูตสหรัฐฯ และรัสเซียประจำสหประชาชาติแลกเปลี่ยนถ้อยคำรุนแรงระหว่างกันในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดย รัสเซียระบุว่า สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสเป็นชาติอันธพาลไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ใช้กำลังทหารโจมตีซีเรียโดยไม่รอผลการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ขององค์การห้ามอาวุธเคมี (Organization for the Prohibition of Chemical Weapons หรือ OPCW) ซึ่งกำลังสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเมืองดูมา อีกทั้งข้อเสนอของรัสเซียที่ให้ประนามสหรัฐฯ จากเหตุโจมตีซีเรีย ถูกผู้แทนสหรัฐฯ และอังกฤษคัดค้าน (Veto) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาติตะวันตกกับรัสเซียตึงเครียด
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 เม.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 20,519 สัญญา มาอยู่ที่ 632,454 สัญญา ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. 61
เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7 แท่น มาอยู่ที่ 815 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 แตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
- Energy Information Administration (EIA) ปรับประมาณการปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนก่อน 170,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 428.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ที่ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์
- CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10เม.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3,275 สัญญา มาอยู่ที่ 441,634 สัญญา
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันในระยะสั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ความตึงเครียดในซีเรีย และพันธมิตรชาติตะวันตก ได้แก่ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร โจมตีฐานอาวุธเคมีในซีเรีย สถานการณ์โดยรวมยังคงคุกรุ่นเพราะการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการพอกพูนความบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียและอิหร่าน ทำให้ราคาน้ำมันดิบและทองคำอยู่ในช่วงขาขึ้นจากแรงสนับสนุนทางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ ปัจจุบันน้ำมันดิบเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับสินทรัพย์ในการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันดิบหลักของโลก อีกทั้ง ความประหวั่นของนักลงทุนต่อความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ว่ารัสเซียจะตอบโต้พันธมิตรชาติตะวันตกเช่นไร รวมไปถึงสหรัฐฯ จะคว่ำบาตรอิหร่านและรัสเซียเพิ่มเติมอีกหรือไม่ (ด้วยข้อหาช่วยรัฐบาลซีเรียผลิตอาวุธเคมี) อาจผลักดันราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งหากปะทุขึ้นมาอีกครั้งและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จะกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ราคาทองคำล้วนได้แรงหนุนเชิงบวกไม่ว่าจะสมรภูมิการรบหรือการค้า โดยมีแนวโน้มทะยานไปถึง$1,400/Oz ส่วนราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ต้องจับตาการทดสอบบริเวณระดับราคาสำคัญที่ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะกำหนดทิศทางว่า ICE Brent จะเคลื่อนไปสู่กรอบใหม่เหนือ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือกลับมาอยู่ภายใต้กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จาก Platts รายงานอุปสงค์เบนซินของสหรัฐฯ ช่วงฤดูร้อนแข็งแกร่ง โดยปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินที่ US Atlantic Coast เดือน มี.ค. 61 อยู่ที่ 11.92 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.67 ล้านบาร์เรล ) สูงสุดในรอบ 7 เดือน และนำเข้าจาก ARA ปริมาณ 3.46 ล้านบาร์เรล (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.13 ล้านบาร์เรล) EIA คาดความต้องการใช้ เบนซินของสหรัฐฯ ในช่วงฤดูขับขี่ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. – 3 ก.ย. 61 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้น Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อเบนซิน 88 RON จำนวน2 เที่ยวเรือๆ ละ 200,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 23-25 และ 25-27 พ.ค. 61 ขณะที่บริษัท Sinopec ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่สุด Zhejiang (460,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยปิโตรเคมี (1.1 MTPA) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 61 เป็นเวลา 40 วัน ด้าน International Enterprise Singapore(IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 690,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.75ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตามบริษัท Saudi Aramco มีแผนเดินเครื่องโรงกลั่นแห่งใหม่ Jizan (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงครึ่งหลังปี พ.ศ. 2561 ซึ่งจะทำให้กำลังการกลั่นในประเทศ อยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้าน Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 900,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 5.14 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.0-84.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัท Saigon Petro ของเวียดนาม ออกประมูลซื้อ ดีเซล 0.05%S ปริมาณ 74,500 ส่งมอบช่วงเดือน พ.ค. 61 และ บริษัท Sinopec ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงปิโตรเคมีขนาดใหญ่ที่สุด Zhejiang (กำลังการกลั่น 460,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วยปิโตรเคมี (กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 61 เป็นเวลา 40 วัน ด้าน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.24 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม โรงกลั่น Alliance(กำลังการกลั่น 247,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Phillips 66 ที่รัฐ Louisiana ในสหรัฐฯ กลับมาเดินเครื่องหน่วย Diesel Hydrotreater (กำลังการกลั่น 65,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 8 เม.ย.61 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 61 และ Platts รายงาน Arbitrage Ultra Low Sulfur Diesel (ULSD) จากเอเชียไปภูมิภาคตะวันตกปิด เนื่องจากอัตราค่าจ้างเรือขนส่งอยู่ในระดับสูง ด้าน PAJ รายงานปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์ เชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 540,000 บาร์เรล อยู่ที่ 3.94 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.0-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล