กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--FAQ
- ปัจจุบันทรูมันนี่ให้บริการอี-มันนี่ อี-เพย์เมนท์ โอนเงิน และบริการช่องทางการชำระเงิน
- ต่อเดือนมียอดการทำธุรกรรมมากกว่า 1 ล้านรายการ และมีลูกค้ามากกว่า 500,000 คนทำธุรกรรมกับตัวแทนทรูมันนี่และทรูมันนี่ วอลเล็ท
- ทรูมันนี่เป็นบริษัทฟินเทคเพียงแห่งเดียวที่มีใบอนุญาตธุรกิจ e-money อย่างเป็นทางการโดยให้บริการในประเทศไทย เมียนมาร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
ทรูมันนี่ เวียดนาม (ทรูมันนี่) ภายใต้ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด บริษัทด้านฟินเทคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตดำเนินธุรกิจตัวแทนบริการชำระเงินระหว่างประเทศจากธนาคารแห่งประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินธุรกิจบริการด้านการเงินแบบดิจิทัลในรูปแบบ e-money การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การโอนเงิน และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งในแต่ละเดือนมีการทำธุรกรรมมากกว่า 1 ล้านรายการและมีลูกค้า 500,000 รายทำธุรกรรมกับตัวแทนทรูมันนี่และทรูมันนี่ วอลเล็ท
นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า "การได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจบริการด้านการเงินแบบดิจิทัลในประเทศเวียดนามซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญสำหรับแอสเซนด์ในการขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นหมายความว่านับจากนี้ทรูมันนี่สามารถนำนวัตกรรมบริการทางการเงินดิจิทัลที่มีความปลอดภัย ราคาย่อมเยาและสะดวก ให้กับคนเวียดนามจำนวน 90 ล้านคน และเราหวังอย่างยิ่งว่านวัตกรรมบริการของเรานี้จะอำนวยความสะดวกกลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารได้เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย"
นับจากวันนี้ผู้บริโภคสามารถใช้ทรูมันนี่ วอลเล็ทซื้อสินค้าออนไลน์ จ่ายบิล เติมเงินโทรศัพท์มือถือ และเกม รวมถึงการโอนเงินจากธนาคารของพวกเขาเข้าบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ท หรือจากบัญชีวอลเล็ทของตัวเองไปยังบัญชีวอลเล็ทอื่นๆ ส่วนร้านค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์สามารถใช้ชำระเงินผ่านระบบทรูมันนี่ และเร็วๆ นี้องค์กรธุรกิจต่างๆ จะสามารถใช้ช่องทางการชำระเงินของทรูมันนี่ในการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานผ่านทรูมันนี่ วอลเล็ทได้อีกด้วย
ทรูมันนี่มีตัวแทนมากกว่า 5,000 รายครอบคลุม 40 จังหวัดทั่วประเทศเวียดนาม โดยตัวแทนเหล่านี้เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ให้บริการทางการเงินรูปแบบต่างๆ แก่ลูกค้า ซึ่งทำให้ชาวเวียดนามจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินให้ได้รับบริการที่รวดเร็วและง่ายดาย เช่น การเติมเงิน และจ่ายบิลใกล้บ้าน และเร็วๆ นี้ ทรูมันนี่ เวียดนามมีแผนจะให้บริการทางการเงินเพิ่มเติม เช่น สินเชื่อ และประกันชีวิต ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในไตรมาสที่ 2 ปีนี้
เวียดนามมีอัตราประชากรที่เข้าถึงธนาคารต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยมีเพียง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีบัญชีกับผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเป็นทางการ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคนี้ที่ 69%
"คาดการณ์ว่าประเทศเวียดนามจะมีศักยภาพในการเติบโตของ GDP มากกว่าประเทศจีนภายในพ.ศ. 2563 ดังนั้นเวียดนามจึงจำเป็นต้องเร่งการเชื่อมต่อผู้คนและธุรกิจเข้ากับบริการทางการเงินเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตอย่างยั่งยืน และเวียดนามถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตของโมบายล์คอมเมิร์ซเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารมากที่สุด และนี่เป็นโอกาสสำคัญของทรูมันนี่ที่จะนำนวัตกรรมทางการเงินมาให้บริการที่นี่" ธัญญพงศ์ กล่าวต่อ
ทรูมันนี่ เป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และบริการทางการเงินสำหรับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร โดยเป็นเพียงบริษัทฟินเทคเดียวเท่านั้นที่ได้รับใบอนุญาตประกอบการการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money licenses) ให้บริการด้านการเงินในประเทศไทย เมียนมาร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม แอสเซนด์ มันนี่เข้าถึงผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 35 ล้านคนในปี 2560 และตั้งเป้าเข้าถึงลูกค้า 100 ล้านคนภายในปี 2563
เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเมียนมาร์ได้รับการระบุจากธนาคารโลกให้เป็นกลุ่มประเทศใน 25 ประเทศชั้นนำที่มีความพยายามเชิงกลยุทธ์เพื่อต้องการรวมกลุ่มบริการทางการเงิน ตามที่ธนาคารโลกกล่าวว่าในปี 2556 เวียดนามมีการอัตราการใช้บัตรเครดิตต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีการใช้บัตรเดบิตเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ของบัตรที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ
ธัญญพงษ์กล่าวต่อว่า "มีเส้นบางๆ ระหว่างคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการธนาคาร เช่น คนที่มีบัญชีธนาคารแต่ถูกจำกัดการเข้าถึง — คนกลุ่มนี้ไม่เพียงจำเป็นต้องเข้าถึงบริการทางธนาคารเท่านั้น แต่ยังต้องใช้บริการทางการเงินในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งหมายความว่าหากมีบริการด้านการเงินแบบดิจิทัลครอบคลุมทุกแพลตฟอร์มก็จะเข้าถึงประชากรได้มากและหลายกลุ่มยิ่งขึ้น — ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ดิจิทัล วอลเล็ทเท่านั้นแต่หมายถึงความจำเป็นในแต่ละวันของทั้งร้านค้าและผู้ใช้ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ในการชำระเงินอย่างราบรื่น แอสเซนด์ มันนี่มีบทบาทสำคัญในการทลายข้อจำกัดของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร"
เวียดนามเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ในการเปิดตัว ทรูมันนี่ วอลเลท ต่อจากประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการขยายฐานผู้ใช้งาน ทรูมันนี่ วอลเลท ทั่วประเทศในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่มีสาขาเกือบ 10,000 แห่งทั่วประเทศ แอสเซนด์ มันนี่ยังคงขยายบริการอย่างต่อเนื่องไปยังตลาดอื่นๆ ที่มีอัตราการให้บริการทางการเงินต่ำสุดในภูมิภาค
ในประเทศเวียดนาม ทรูมันนี่ วอลเลท เปิดตัวอย่างเป็นทางการระหว่างเทศกาลตรุษจีนด้วยแคมเปญ TrueGift โดยให้เซเลบบริตี้ คนมีชื่อเสียงและผู้ใช้ส่งอั่งเปาให้คนรักและเพื่อนๆ เพื่อร่วมฉลองเทศกาลมงคลนี้
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ได้ประมาณการว่าการให้บริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัลแก่ประชากรที่ไม่มีบัญชีธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นการเพิ่ม GDP ของประเทศได้มากถึง 6%
เกี่ยวกับ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด
แอสเซนด์ มันนี่มีพันธกิจหลักคือการทำให้ผู้คนเข้าถึงนวัตกรรมบริการการเงินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แอสเซนด์ มันนี่เป็นบริษัทฟินเทคชั้นนำในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีแบรนด์ ทรูมันนี่ ให้บริการชำระเงิน และแอสเซนด์ นาโน ให้บริการสินเชื่อ บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ แอสเซนด์ มันนี่ เปิดให้บริการใน 6 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมาร์ และกัมพูชา โดยแอสเซนด์ มันนี่มุ่งเน้นให้บริการไปที่ลูกค้าสองกลุ่มหลัก 1) ลูกค้ากลุ่มดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ด้วยบริการแอปพลิเคชั่นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 2) ลูกค้ากลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ด้วยเครือข่ายตัวแทน ทั้งนี้บริการที่อยู่ภายใต้แอสเซนด์ มันนี่ ได้แก่ บริการชำระเงินออนไลน์ บริการโอนเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ บริการชำระค่าบริการต่างๆ บริการเติมเงิน บริการชำระเงินทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งบริการจ่ายเงินเดือน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอสเซนด์ มันนี่ได้ที่ http://www.ascendcorp.com/money