กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- วารสารศาสตร์ มธ. เตรียมทำสื่อการเรียนรู้ 'บุพเพสันนิวาส' หวังยกระดับนวัตกรรมสื่อในอนาคต
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ 'ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส' เพื่อถอดองค์ความรู้การผลิตและสร้างสรรค์ละครโทรทัศน์ ที่นับเป็นต้นแบบของสื่อบันเทิงไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการให้ความบันเทิงและด้านการสร้างสรรค์พัฒนาสังคมให้เกิดการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยในการเสวนา ได้รับเกียรติจาก นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม บรรยายพิเศษ และเปิดเวทีเสวนา ซึ่งมีวิทยากรจากทีมงานละคร นอกจากนี้ เนื้อหาที่ได้จากการเสวนาจะจัดทำเป็นชุดองค์ความรู้ เพื่อนำไปเผยแพร่แก่วงการสื่อและประชาชน เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรมของวงการสื่อไทย
ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th
ผศ.ดร.อัจฉรา ปัณฑรานุวงศ์ คณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และกระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเสวนาวิชาการ 'ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส' เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และถอดบทเรียนจากนักวิชาการและทีมงานผู้ผลิตละครเรื่อง 'บุพเพสันนิวาส' โดยได้รับเกียรติจาก นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม บรรยายพิเศษ และเปิดเวทีเสวนา ซึ่งมีวิทยากรจากทีมงานละคร อาทิ ภวัต พนังคศิริ ผู้กำกับละครเรื่องบุพเพสันนิวาส อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นักเขียนบทโทรทัศน์ ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย หัวหน้าคณะทำงานสายกิจการองค์กร สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ร่วมด้วยนักวิชาการ อาทิ อาจารย์นิมิตร พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม รศ.นฤมล ปิ่นโต นักวิชาการด้านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ฯลฯ
ผศ.ดร. อัจฉรา กล่าวต่อว่า เนื้อหาที่ได้จากการเสวนาวิชาการ "ไขรหัสลับ ละครบุพเพสันนิวาส" คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. จะทำการสรุปเนื้อหาการเสวนามาจัดทำเป็นชุดองค์ความรู้ เพื่อนำไปเผยแพร่แก่วงการสื่อและประชาชนทั่วไปต่อไป โดยการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้และการพัฒนานวัตกรรมของวงการสื่อไทย ทั้งนี้ละครเรื่อง 'บุพเพสันนิวาส' นับเป็นปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่และส่งผลในด้านบวกกับวงการละครโทรทัศน์ไทย จากเดิมที่สังคมทั่วไป มองว่าสื่อละครโทรทัศน์ส่วนใหญ่ มักมุ่งตอบสนองเพียงความบันเทิง อีกทั้งยังแฝงเนื้อหาเรื่องเพศ ความรุนแรง และไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แต่ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ เปรียบเสมือนละคร "น้ำดี" ที่สามารถเป็นต้นแบบในการนำเสนอเนื้อหาที่มีความสร้างสรรค์ มีทั้งความสนุกสานานบันเทิง และมีสาระที่เป็นประโยชน์แก่สังคม
อย่างไรก็ตาม "ละครบุพเพสันนิวาส" สามารถเป็นการสะท้อนถึงแนวทางการปรับตัวที่ดีเยี่ยมของสื่อละครโทรทัศน์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีคุณภาพ รวมทั้งการใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่ดี และการใช้ประโยชน์จากสื่อใหม่ อย่างโซเชียลมีเดีย ยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาฐานผู้ชมของสื่อโทรทัศน์ไว้ให้ได้ในยุคที่ผู้ชมหันไปเปิดรับข่าวสารจากช่องทางสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อเดิมอีกด้วย ตลอดจน "สื่อที่ดี ย่อมเป็นเสมือนครูของสังคม ที่กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กรณีตัวอย่างของละครบุพเพสันนิวาส นับเป็นปรากฏการณ์ที่สื่อได้ทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้สังคมหันมาสนใจในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งยังสอดแทรกเรื่องราวของคุณธรรม จริยธรรม วิถีชีวิต ประเด็นทางสังคมและการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างกลมกลืน จึงเป็นหน้าที่ของแวดวงวิชาการและวิชาชีพ ที่ต้องร่วมมือกันถอดบทเรียนความรู้นี้ เพื่อไปพัฒนาเป็นตัวแบบของการผลิตสื่อละครโทรทัศน์ที่มีความสร้างสรรค์และช่วยพัฒนาสังคมต่อไป" ผศ.ดร. อัจฉรา กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มธ. โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th