กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--เอบีเอ็ม
ทรู ดิจิทัล พาร์ค มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศหรือ ecosystem ครบวงจรสำหรับ สตาร์ทอัพ เดินหน้าจัดงานเสวนาให้ความรู้และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพเป็นประจำทุกเดือน ครั้งนี้ได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ ผู้หญิงกับแวดวงดิจิทัล ซึ่งถูกมองว่าวงการนี้เหมาะสำหรับผู้ชายมากกว่าเพราะเป็นเรื่องที่ผู้ชายส่วนใหญ่ให้ความสนใจ อีกทั้งในกลุ่ม Startup Top 100 มีผู้หญิงน้อยกว่า 10% แต่ปัจจุบันผู้หญิงไทยเข้ามามีบทบาทมาก ขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากสัดส่วนประชากรที่มากกว่าผู้ชาย และเมื่อเทียบกับวงการอื่นแล้วผู้หญิงในวงการไอทียังคงน้อยอยู่จริงหรือและเป็นเพราะเหตุใด
3 สาวแถวหน้าของวงการสตาร์ทอัพ ได้แสดงความคิดเห็น ในงานเสวนา "Women in Tech: What's the real problem?" ผู้หญิงไม่สนใจด้านไอที หรือสังคมการทำงานไม่เอื้อหรืออย่างไร ร่วมเปิดมุมมองและแนวคิดใหม่ สำหรับผู้หญิงที่สนใจด้านไอทีและดิจิทัล
เริ่มด้วยอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง TECHSAUCE รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับดิจิทัลเอเจนซีและแบรนด์ต่างๆ ตั้งข้อสังเกตว่า "ในยุค Gen Y มีผู้หญิงที่เรียนสายวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมมากขึ้นกว่ายุค Baby Boom และ Gen X ที่มีสัดส่วนผู้หญิงประมาณ 1 ต่อ 6 เท่านั้น จริงๆ แล้วผู้หญิงสามารถทำงานด้านนี้ได้ดีพอๆ กับด้านอื่น เพราะผู้หญิงได้เปรียบเรื่องความละเอียดอ่อน รอบคอบ และมีซอฟต์สกิลใน
การทำงาน ส่วนผู้ชายจะเก่งและไวเรื่องตัวเลข ดังนั้นอย่ารอโอกาส ถ้าเรามีฮาร์ดสกิลและมีความสามารถที่พร้อม อย่าอาย ต้องเปิดโอกาสให้ตนเอง สร้างคอนเน็คชั่นใหม่ๆ ตัวอย่างแห่งความสำเร็จก็เป็น ส่วนเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และผลักดันให้ผู้หญิงกล้ามากขึ้น"
ณิชาภัทร อาร์ค ที่ปรึกษาประจำประเทศไทยของ NSI Ventures และ seedstarsworld และยังเป็นนักลงทุนในกิจการสตาร์ทอัพหรือแองเจิล อินเวสเทอร์ รวมถึงเป็นผู้จัดงาน seedstars เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพจาก 76 ประเทศทั่วโลก ไปแข่งขันกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากประสบการณ์การทำงานในแวดวงการเงินมาก่อน และได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของกิจการสตาร์ทอัพมากมาย กล่าวว่า "ผู้หญิงยังไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ต่างจากผู้ชายที่ทำได้ดีกว่า หลายคนเขินอายและไม่มั่นใจในไอเดียของตนเอง มักจะถ่อมตัวเกินไป ไม่กล้านำเสนอผลงานที่ทำได้ดี หรือไม่กล้ายอมรับว่ามาจากความสามารถของตน อยากให้มองว่าวงการสตาร์ทอัพเป็นโอกาสและเป็นหนึ่งในการทำงานที่สนุกและสร้างรายได้ ซึ่งวงการนี้ยังต้องการซอฟต์สกิลจากผู้หญิงอยู่มาก ขอเพียงมีความกล้าแสดงออก เรื่องเทคโนโลยีสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ไม่ต้องกังวล แม้จะมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ตรงสาย"
ด้านเพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ประธานเจ้าหน้าที่ร่วมบริหารแห่ง aCommerce ประจำประเทศไทย ซึ่งเป็นสำนักงานที่มีผลงานโดดเด่นจากสี่แห่งในภูมิภาค ผู้คุ้นเคยกับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเธอเห็นด้วยกับณิชาภัทรว่า "ผู้หญิงไทยที่เป็นผู้บริหารระดับสูง
ส่วนใหญ่มีทักษะการทำงานดีมาก แต่บางคนไม่กล้าพรีเซ้นต์ตัวเอง เพราะไม่ต้องการต่อสู้กับใคร ซึ่งหากต้องการเข้ามาในวงการสตาร์ทอัพจะต้องมั่นใจ กล้าคิด และกล้าทำ" พร้อมเสริมว่า "โดยส่วนใหญ่แล้วองค์กรจะเน้นคัดเลือกคนจากการเปิดใจที่จะเรียนรู้มากกว่าคณะที่เรียนจบมา ซึ่งผู้หญิงนั้นโดยธรรมชาติมีจุดเด่นด้านนี้อยู่แล้ว ขอสนับสนุนผู้หญิงที่อยากเข้ามาในวงการ ให้เริ่มลงมือทำ ศึกษาและเรียนรู้ได้เลย และผู้หญิงจะเข้ามาทำให้วงการมีสีสันมากขึ้น"
กิจกรรมเสวนาและสร้างเครือข่ายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายสังคมสตาร์ทอัพ ของทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่พร้อมเปิดให้บริการในปลายปีนี้