กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สำนักงานปรมาณูเพื่อส้นติ
19 เมษายน 2561 ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ให้การต้อนรับ Mr.Raja Abdul Aziz Raj Adnan, ผู้อำนวยการแผนกความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ซึ่งเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อบรรยายการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมการดำเนินงานของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
ดร. อัจฉรา เปิดเผยว่า แผนสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย (Integrated Nuclear Security Support Plan, INSSP) เป็นเอกสารที่ประเทศสมาชิกจัดทำกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เพื่อปรับปรุงหรือเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบอบความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ โดยประเทศสมาชิกสามารถระบุความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของตนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการร่วมมือกับ IAEA หรือประเทศสมาชิกพันธมิตรอื่นได้ ทั้งนี้เอกสารนี้จะต้องมีการทบทวนสาระสำคัญทุก 3 ปี เพื่อให้มีความทันสมัยทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้ร่วมกับ IAEA จัดประชุมทบทวนแผนสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 - 10 พฤศจิกายน 2560 และ IAEA ได้ให้ความสำคัญกับแผนดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง จึงได้กำหนดจัดการประชุมแผนสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย ในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561 โดย Mr.Raja Abdul Aziz Raj Adnan, ผู้อำนวยการแผนกความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ของ IAEA ได้ให้เกียรติมาบรรยายในหัวข้อ แผนสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย (Integrated Nuclear Security Support Plan, INSSP) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 30 คน จากหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศไทย อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมท่าอากาศยาน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ Mr. Raja ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของ ปส. อีกด้วย
ดร. อัจฉรา กล่าวในตอนท้ายว่า การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ เป็นบทบาทหน้าที่สำคัญของ ปส. เพื่อให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยต่อชีวิตประชาชน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ และเพื่อป้องกันภัยคุกคามและอันตรายจากผู้ก่อการร้ายที่มีเป้าหมายกิจกรรมทางนิวเคลียร์เป็นสำคัญ