กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--
สคช. ร่วมมือแบบพหุภาคี กับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) : ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พัฒนาผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) ที่ให้บริการ ณ ทสภ.ให้มีมาตรฐานอาชีพเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพกำลังคนของประเทศในทุกๆ สาขาวิชาชีพ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ 20 ปี และตามนโยบายประเทศไทย 4.0…การพัฒนากำลังคนด้วยการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้สร้างความร่วมมือกับศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการเป็นองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อประเมินคุณวุฒิวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) และในวันนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ลงนามความร่วมมือการสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและมาตรฐานอาชีพร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) : ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เพื่อตอกย้ำการ "ติดปีกแท็กซี่สุวรรณภูมิ ทะยานสู่บริการที่เหนือกว่า" โดย สคช. จะขอตั้งปณิธานในการร่วมพัฒนาบุคลากรผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะให้เป็นผู้ขับขี่อย่างมีมาตรฐาน ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม และจะมุ่งมั่นในการให้การรับรองบุคลากรผู้ขับขี่แท็กซี่สาธารณะทั่วไป และผู้ขับขี่แท็กซี่ในสนามบินทั่วประเทศให้ "ทะยานสู่ความเป็นมืออาชีพ" อย่างยั่งยืน
"อาชีพแท็กซี่เป็นอาชีพในสาขาบริการที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับคนในทุกสังคม ทุกอาชีพ และยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เสมือนเป็นปราการด่านแรกในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ในฐานะองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ จึงมีความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการประเมิน เพื่อพัฒนาบุคลากรผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะให้มีมาตรฐาน" นายพิสิฐ กล่าว
นายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ทสภ. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่วันนี้ทุกภาคส่วนได้ให้ความร่วมมือ เห็นความสำคัญของบุคลากรในอาชีพผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) ที่ให้บริการอยู่ใน ทสภ. ซึ่งถือเป็นประตูด่านหน้าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก แท็กซี่ที่ให้บริการใน ทสภ. ซึ่งในภาพรวมถือว่าเป็นผู้ให้บริการที่ดีเยี่ยม แต่การจะ "ติดปีกแท็กซี่สุวรรณภูมิ ทะยานสู่บริการที่เหนือกว่า" ต้องมีการพัฒนาในองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย การให้บริการที่ดีเยี่ยมแก่นักท่องเที่ยว การสื่อสารภาษาต่างประเทศที่จะเพิ่มโอกาสในการให้บริการ รวมถึง คุณธรรมจริยธรรมในอาชีพ
"ในปัจจุบัน มีแท็กซี่กว่า 6,000 คัน ที่ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ณ ทสภ.ดังนั้น การพัฒนาบุคลากรดังกล่าว ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการดำเนินงานอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้ได้มาตรฐานผู้ขับขี่รถแท็กซี่ที่เป็นมาตรฐานสากลโดยผ่านการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งครั้งนี้ 4 หน่วยงานในความร่วมมือได้ผนึกกำลัง เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพแก่ผู้ขับขี่รถแท็กซี่นั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นและในอนาคตจะมีการขยายผลไปยังผู้ขับขี่รถแท็กซี่สนามบินอื่นๆ รวมถึง แท็กซี่สาธารณะทั่วประเทศ นอกจากนี้ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ยังดำเนินงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อจัดฝึกอบรมฝีมือแรงงานและสนับสนุนการฝึกอบรมในหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) ให้แก่ผู้ที่ผ่านการประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและเตรียมพร้อมที่จะเป็นมืออาชีพในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกด้วย
ทอท. พร้อมสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) ให้มีการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพในทุกบริบท อันจะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในการบริการแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศต่อไป และหลังจากความร่วมมือในครั้งนี้จากทุกภาคี เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถจัดการอบรมและประเมินสมรรถนะให้กับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้ทั้งหมดภายในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน" นายศิโรตม์ กล่าว
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ (แท็กซี่) ร่วมกับทุกภาคีที่ได้ร่วมลงนามกันในวันนี้ โดยที่ผ่านมาเราได้ส่งเสริมให้มีการอบรมผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะในหลักสูตรภาษาต่างประเทศและการอบรมฝีมือแรงงานด้านอื่นๆ ซึ่งจะเสริมสร้างให้เกิดความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือ เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เพื่อให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่สามารถให้บริการผู้โดยสารทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยความเป็นมิตร มีบริการที่ดี สร้างความประทับใจ การพัฒนากลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ ที่ให้บริการแก่ผู้โดยสาร ณ ทสภ. ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนจึงจะสามารถทำให้บุคลากรเหล่านี้เกิดสมรรถนะที่ดีได้ในอนาคต