กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
"สื่อคือแหล่งกำเนิดของแรงบันดาลใจ" คำกล่าวนี้เป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีข้อพิสูจน์มากมาย ว่ามิใช่คำกล่าวที่เกินจริงแต่อย่างใด ดังเช่นภาพยนตร์เรื่อง ชีวิตพิศวงของวอลเตอร์ มิตตี้ (The Secret Life of Walter Mitty) ที่สร้างแรงบันดาลให้ผู้ชมทั่วโลก อยากออกไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในสถานที่ที่แตกต่าง หรือภาพยนตร์ที่โด่งดังในอดีตยุค ค.ศ.1980 อย่างภาพยนตร์เรื่อง เจาะเวลาหาอดีต (Back to the Future) ที่มีการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นเพียงจินตนาการในสมัยนั้น แต่เกิดขึ้นจริงและถูกใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน อาทิ การสนทนาแบบเห็นหน้าคู่สนทนา (Video Call) ซึ่งเป็นเพียงนวัตกรรมที่ไม่สามารถทำได้จริงในยุคนั้น เป็นเพียงเรื่องแต่งที่นำเสนอในภาพยนตร์ แต่ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารในรูปแบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย จะเห็นได้ว่าสื่อในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์หรือละคร เปรียบเสมือนเครื่องมือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมรวมถึงเยาวชน ให้นำแรงบันดาลใจดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
เพียงแรงบันดาลใจ ไม่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมได้
รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์มาโดยตลอด หากมองย้อนกลับไปในอดีต เช่น เมื่อในสมัยอยุธยา คงไม่มีใครเชื่อว่า จะมีเครื่องบิน รถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือแม้แต่จักรยานอย่างเช่นในปัจจุบัน การพัฒนาความสะดวกสบายให้กับมนุษย์นั้นล้วนต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานรากฐานในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปรียบเสมือนเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่ออำนวยความสะดวกทุกชิ้นบนโลก หากไม่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมนุษย์คงไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และองค์ประกอบที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าความรู้ด้านวิทยาศาสตร์นั้นคือ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และแนวทางความคิดที่นอกกรอบ ดังนั้นการอ่านหนังสือและการเรียนรู้เรื่องราวที่หลากหลายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมให้กับประเทศชาติและโลกใบนี้
นวัตกรรมมิได้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่านั้น แต่นวัตกรรมยังมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติอีกด้วย ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า "บ้านเมืองจะเจริญไม่ได้หาก วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้รับการพัฒนา" ดังนั้นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรม สู่การพัฒนาความเจริญให้กับประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในประเทศควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง รศ.ดร.สมชาย กล่าวทิ้งท้าย
แรงปรารถนาด้านวิทยาศาสตร์จากผู้สร้างสรรค์ สู่เยาวชนไทย
คุณอรุโณชา ภาณุพันธ์ ผู้จัดละคร บุพเพสันนิวาส กล่าวว่า ละครเปรียบดั่งจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจในหลากหลายแง่มุม จึงปราถนาให้ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เป็นดั่งสื่อกลางในการสอนเรื่องวิทยาศาสตร์และส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ ผ่านการสอดแทรกองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน อาทิ การยืนบนเรือ อาจสร้างความไม่สมดุลให้กับเรือ ส่งผลให้เรืออาจคว่ำและจมได้ รวมถึงการดื่มน้ำสะอาดจากเครื่องกรองน้ำที่ทำโดยแม่การะเกด เพื่อสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดีและแนวทางการป้องกันยุง เพื่อเป็นการป้องกันโรคมาลาเรีย เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวทั้งสิ้น โดยมีความคาดหวังว่าเยาวชนจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้เรียนรู้จากละครนำมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแนวคิดและนวัตกรรมที่แปลกใหม่ นำมายกระดับวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และพัฒนาให้เยาวชนไทยก้าวไปสู่ระดับสากลในด้านนวัตกรรม
เยาวชนไทยกับแรงบันดาลใจ ก้าวสู่นักประดิษฐ์สากล
นายโศธนะ วิชาเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสวนกุหลาบ รังสิต จังหวัด ปทุมธานี กล่าวว่า จากเดิมมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์เป็นทุนเดิมแล้ว โดยได้เข้าร่วมเป็นเยาวชนในโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเมื่อได้ดูภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องต่างๆ รวมถึงละครไทยอย่างบุพเพสันนิวาส ที่ตัวเอกของละครได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน จึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ตนมี นำมาต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมไปถึงพัฒนาประเทศชาติให้มีความก้าวหน้าด้านนัวตกรรมและเทคโนโลยีให้มีความทัดเทียมกับนานาชาติ
สำหรับน้องๆ ที่สนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เพื่อก้าวสู่ความเป็นนักประดิษฐ์ระดับสากล สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th ในรอบรับตรงร่วมกัน ระหว่างวันที่ 9-13 พฤษภาคม 2561 และรอบแอดมิชชั่นกลาง ระหว่างวันที่ 6-10 มิถุนายน 2561 สอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายรับเข้าศึกษา มธ. โทร. 02-564-4441-79 ต่อ 1634-1638 หรือติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th