กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ทั้ง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) ประกาศความสำเร็จในงาน Success to Phuket Smart City ยกจังหวัดภูเก็ต เป็นต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล บริการ Free Wi-Fi 1,000 จุด บริการ Beacon 2,000 จุด เปิดแอปฯ ข้อมูลข่าวสารจังหวัด บูรณาการจัดเก็บข้อมูล Big Data เพื่อการบริหารเมือง พร้อมนำร่องบริการ LoRaWAN ใช้ในการติดตามพิกัดการขนส่งสาธารณะประเมินพฤติกรรมการขับขี่ ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ คาดครอบคลุมทั่วประเทศในปี 62
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน มีนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามวัตถุประสงค์หลักที่ต้องการ ให้มีการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิทัล และวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งจะทำให้ ทุกภาคเศรษฐกิจก้าวทันและสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
กระทรวงดิจิทัลฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการผลักดันนโยบายดังกล่าว ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ทั้ง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA และสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ สดช. ดำเนินการพัฒนาโครงการภูเก็ต สมาร์ทซิตี้ (Phuket Smart City) "ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ" ภายใต้โครงการความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนราชการท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมุ่งหวังให้ประชาชน นักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ตได้ใช้ประโยชน์ เช่น 1) ประชาชนในจังหวัดภูเก็ตสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตเข้าถึงข้อมูลและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพ สร้างธุรกิจ และเพิ่มรายได้ในชุมชนผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนผ่านบริการดิจิทัลต่าง ๆ 2) ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์จากบริการอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมออนไลน์ต่างๆ เพื่อเป็นการผลักดันและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงช่วยสร้างบรรยากาศ และเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนทางธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต และ 3) เพื่อพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็น Smart City ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น โดยจังหวัดภูเก็ตพร้อมที่จะรองรับการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ Internet of Things (IoT) และนวัตกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับ "ภูเก็ต สมาร์ทซิตี้" ได้ดำเนินการยกระดับพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลไปแล้วในหลายโครงการ อาทิ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย (Hi-speed Wi-Fi) ในพื้นที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 100 สถานที่ และมีจุดให้บริการ 1,000 จุด ให้บริการในอัตราการรับ/ส่งข้อมูลความเร็วไม่น้อยกว่า 100/25 Mbps ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable) เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้ประโยชน์จากสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตยังมีจุดให้บริการ Beacon ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการส่งข้อมูลระยะสั้นผ่าน Bluetooth Low Energy พร้อมระบบที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2,000 จุด รวมถึงได้สร้างแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือให้ประชาชน นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารทางตรง มีความถูกต้องจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และได้รับข้อมูลการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ พร้อมสิทธิประโยชน์จำเพาะเจาะจงในพื้นที่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในพื้นที่หรือจังหวัดได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังมีระบบจัดเก็บข้อมูลและการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ (Big Data) ที่พร้อมให้บริการข้อมูลในลักษณะ Open Data ตลอดจนระบบรายงานเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล (Reporting Tool) สำหรับนำเสนอข้อมูลหรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งมีการให้บริการสื่อข้อมูลแบบดิจิทัล (Digital Signage) จำนวน 21 จุดให้บริการ ประกอบด้วย อุปกรณ์พร้อมจอภาพแสดงผลขนาดไม่ต่ำกว่า 46 นิ้ว จำนวน 20 จุด และจอภาพแสดงผลต่อเนื่องในลักษณะ Video Wall โดยแต่ละจอภาพมีขนาดไม่ต่ำกว่า 55 นิ้ว รวม 5 จอ จำนวน 1 จุด
นอกจากนั้น CAT ยังได้นำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามารองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ ของจังหวัดภูเก็ต โดยแบ่งบทบาทการทำงานเพื่อให้บริการ IoT ตั้งแต่ ระดับ Device เนื่องจากในอนาคตจะมีผู้ใช้งาน sensor เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองงานบริการ Internet of Things (IoT) ด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม CAT จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการสร้าง Ecosystem โดยผลักดันให้เกิดการผลิตและติดตั้งอุปกรณ์เหล่านั้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถเข้าถึงระดับ Network โดย CAT ให้บริการด้านการสื่อสารระบบสายและไร้สาย ได้แก่ บริการ 3G และ 4G ภายใต้แบรนด์ My อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ C-Internet รวมถึง LPWAN ที่ CAT ได้นำเทคโนโลยี LoRaWAN มาเปิดบริการเพื่อรองรับอุปกรณ์ IoT โดยสามารถรับส่งข้อมูลได้ในระยะไกล ประหยัดพลังงาน และราคาไม่สูงมากนัก
ในส่วนของ LoRaWAN ได้เริ่มทดสอบให้บริการใน 4 จุด ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนามหลวง มหาวิทยาลัยบูรพา และจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจังหวัดภูเก็ตได้ใช้ LoRaWAN เข้าไปช่วยในเรื่องของระบบติดตามพิกัด ติดตามสถานการณ์ทำงานของระบบขนส่งสาธารณะ อาทิ เรือโดยสาร รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถทัวร์ และรถเก็บขยะ เป็นต้น เพื่อประเมินพฤติกรรมการขับขี่ เพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการ การบริหารจัดการเวลา จะเห็นได้ว่าหนึ่งในปัจจัยหลักของการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ คือ การจัดสร้างระบบสำหรับรองรับ Big Data หรือ Data Aggregation เพื่อใช้ในการจัดการข้อมูลหลากหลายรูปแบบที่ถูกส่งมาจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ หรือเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นได้นำไปต่อยอดแอปพลิเคชั่นของตนเอง สำหรับการให้บริการ LoRaWAN ของ CAT นอกจาก 4 จุดดังกล่าวแล้ว ยังมีแผนขยายโครงข่ายเพื่อเปิดให้บริการ LoRa by CAT เพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา น่าน สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และนครปฐม โดยมีเป้าหมายที่จะวางโครงข่ายเพื่อให้บริการครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2562 ส่วนระดับสุดท้าย คือ ระดับ Data Analysis เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะ โดยเน้นไปที่เรื่องของการบริการเมืองอัจฉริยะในแต่ละด้าน ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้น ประกอบกับการสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น ต้องมีระบบประมวลผลขนาดใหญ่ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่เกิดจากพฤติกรรมและกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจและป้องกันปัญหาของเมืองที่มีแตกต่างกันไปได้อย่างยั่งยืน และถาวร
สำหรับ DEPA โดยสาขาภาคใต้ตอนบน ได้ดำเนินการขับเคลื่อน Smart City ภายใต้โครงการ Smart Growth ในด้านต่างประกอบด้วย Smart Economy จัดทำหลักสูตรการอบรมของหน่วยงานที่เป็น Startup ซึ่งที่ผ่านมามี Startup ที่จดทะเบียนกับ BOI เพิ่มขึ้นจำนวน 28 ราย มูลค่าการลงทุนประมาณ 160 ล้าน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ Smart City Innovation Park เป็นศูนย์ที่ให้ความรู้เรื่อง Smart City ซึ่งปีที่ผ่านมามีหน่วยงานทั่วประเทศเข้ามาเรียนรู้ประมาณ 3,500 คน ตลอดจนการดำเนินการเรื่อง Digital Startup โดย DEPA จัดสรรเงินทุนและงบประมาณให้กับ Startup Funds ที่เกี่ยวกับ Smart City ร่วมขบคิดแก้ไขปัญหาของเมือง
Smart Tourism การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว Smart City Application ได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเพื่อปรับปรุงแอปพลิเคชันให้สามารถนำสินค้าท้องถิ่นมานำเสนอบนแอปพลิเคชั่นได้ และจะเปลี่ยนชื่อจาก Smart City Application เป็น So Phuket ตามแนวคิดของประชารัฐ
Smart Safety พัฒนาระบบฐานข้อมูลนักท่องเที่ยว ระบบแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายใช้งานควบคู่กับ Smart City Application และระบบควบคุมความปลอดภัยทางทะเล ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และได้ฝึกอบรมให้กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่สอง ศึกษาเทคโนโลยีที่ใช้กับสายรัดข้อมือ Wristband เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลในการติดตามนักท่องเที่ยวทางเรือ โดยระบบต้นแบบได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และท่าเรืออ่าวปอได้นำระบบต้นแบบไปทดลองใช้งานจริง ผ่านการดำเนินการโดย Startup ในพื้นที่
Smart Environment ระบบเซ็นเซอร์ IOT Development sensor ซึ่งได้ติดตั้งแล้วจำนวน 10 สถานี ระยะทาง 8 กิโลเมตรไปตามแนวคลองบางใหญ่ที่ผ่านเทศบาลนครภูเก็ต ระบบเชื่อมต่อข้อมูลคุณภาพน้ำ ข้อมูลอากาศ ข้อมูลระดับน้ำ และในระยะที่ 2 จะติดตั้งเพิ่มอีก 5 สถานีบนแนวคลองบางใหญ่ช่วงต้นน้ำ คาดว่าเดือนกันยายน 2561 จะดำเนินการแล้วเสร็จ นอกจากนั้นยังได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันทั้งหมด ล่าสุดพบว่ามีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล sensor เรื่องน้ำประมาณ 5-6 หน่วยงาน โดยจะรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อให้เห็นภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดภูเก็ต ปัญหา อุปสรรค และรูปแบบการนำไปใช้จริง
สำหรับโครงการต่อเนื่องที่จะดำเนินการในปีนี้เป็นเรื่อง City Data Platform จะเป็นมิติการรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเมืองที่ผ่านระบบ IoT sensor หรือระบบต่าง ๆ ที่อยู่ในอำนาจของจังหวัดเข้ามาไว้ที่ส่วนกลางและเป็นฐานข้อมูล Big Data ของจังหวัดเพื่อให้เมืองสามารถบริหารจัดการได้ โดยได้กำหนดเป็น 3 เรื่อง คือ การท่องเที่ยว ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่ไปตอบโจทย์ด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันได้หน่วยงานพันธมิตรแล้ว คือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ที่อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอร่วมวิจัยโครงการมาเสนอต่อ DEPA ต่อไป