กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยในไตรมาสแรกมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ จำนวน 20,540 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จำนวน 6,159 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาสแรก จำนวน 15,995 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อค่อนข้างทรงตัว โดยมีกำไรสุทธิ 6,787 ล้านบาท และยังรักษาสัดส่วน Coverage Ratio ไว้ที่ระดับ 120.25% พร้อมเดินตามยุทธศาสตร์ Future Banking รองรับการแข่งขันที่รุนแรง
ธนาคารกรุงไทย รายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ และภาษีเงินได้) อยู่ที่ 15,995 ล้านบาท ลดลง 13.11% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2560 และมีกำไรสุทธิ 6,787 ล้านบาท ความพยายามในการปรับและการบริหารพอร์ทสินเชื่อเพื่อลดการกระจุกตัว และมีองค์ประกอบในอุตสาหกรรมที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เบ็ดเสร็จ ยังคงเป็นความท้าทายของธนาคารที่ฝ่ายบริหารให้ความสำคัญอย่างอย่างต่อเนื่อง
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เท่ากับ 20,540 ล้านบาท ลดลง 7.17% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.50% ต่อปี เมื่อช่วงกลางเดือนพ.ค.ปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรวมค่อนข้างทรงตัว โดยสินเชื่อภาครัฐ และสินเชื่อรายย่อยขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Net Interest Margin : NIM) อยู่ที่ 3.07%
รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 6,159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.75% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ Bancassurance ทั้งนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการรักษาระดับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งในไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 120.25% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2560 โดยธนาคารได้ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ อยู่ที่ 6,908 ล้านบาท ลดลง 7.40% จากไตรมาส 1/2560
สำหรับสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs gross) ณ ไตรมาส 1/2561 จำนวน 107,774 ล้านบาท โดยมี NPL Ratio Gross อยู่ที่ 4.33% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 4.19% จากลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อยบางส่วน เงินกองทุนของธนาคาร อยู่ที่ 17.72% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 ที่ 17.45% โดยมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13.81% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และได้ประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนในอนาคตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของทางการ และครอบคลุมถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2561 ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวในตลาดสำคัญ หนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวตาม และการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดี การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังมีการขยายตัวแต่ภาพรวมยังคงเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ Future Banking โดยสนับสนุนบริการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ ได้พัฒนา Smart University Mobile Application เพื่อสนับสนุนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด การนำเสนอบัตรกรุงไทยพร้อมจ่าย (KTB Cash Card) แก่ลูกค้าที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อใช้จ่ายผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในหน่วยงานราชการที่เริ่มให้บริการในวันที่ 27 มีนาคม 2561
อีกทั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ธนาคารได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคาร การจ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงินผ่านKTB netbank เพื่อมุ่งเน้นการดูแลลูกค้าในทุกพื้นที่ให้มีโอกาสใช้บริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน ซึ่งเป็นการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มตลาดที่การแข่งขันทวีความรุนแรง และท้าทายต่อการดำเนินงานในอนาคต