กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ปัจจุบัน เกิดกระแสข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการใช้สารกำจัดวัชพืชของภาคเกษตรกรรม หรือ พาราควอต ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลต่อไปยัง การปฏิเสธสินค้า และผลผลิตจากเกษตรกร ไม่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว แต่อุตสาหกรรมแปรรูป การผลิต และการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและอาหาร ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รวมทั้ง ข่าวสารดังกล่าวยังสร้างความกังวลใจต่อสาธารณะ และผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นด้านสุขภาพ จนกระทั่งถึงขั้นที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือ แบน พาราควอต ออกไปจากระบบกสิกรรมเลยทีเดียว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบหายใจ อดีตหัวหน้าภาควิชาโรคระบบหายใจ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยว่า ในฐานะที่เคยเป็นแพทย์ระบบการหายใจ และปอดมีประสบการณ์กับพิษพาราควอตในผู้ป่วยจากการดื่มพาราควอตได้เคยเขียนบทความทบทวนส่งไปลงพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์เวชสาร และ พุทธชินราชเวชสาร พร้อมกันนั้นก็ไปบรรยายเรื่องพาราควอตในการประชุมราชบัณฑิตสัญจร เมื่อเมษายนปีที่ผ่านมา ในครั้งนั้นมีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องหลายท่านมาร่วมประชุมด้วย เช่น ศาสตราจารย์ ดร. สุธรรม อารีกุล ศาสตราจารย์ ดร. สิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ศาสตราจารย์ ดร. อรอณงค์ นัยวิกุล ศาสตราจารย์ ดร. สมชาย วงศ์วิเศษ ศาสตราจารย์ ดร. ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านไม่มีความเห็นขัดแย้งกับข้อมูลที่บรรยาย คือ การใช้พาราควอตทางกสิกรรมไม่มีอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากศาสตราจารย์ นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อ้างผลงานของคณะผู้วิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว) พบว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทำให้มีสารพาราควอตตกค้างอยู่ในไร่นา ในน้ำที่ขัง ทำให้ผู้ที่ย่ำน้ำที่มีสารปนเปื้อนเหล่านั้นได้รับสัมผัสพาราควอตทางผิวหนังป่วยปีละกว่า 100 ราย และมีผู้เสียชีวิต 6 รายจากขาเน่าและติดเชื้อซ้ำซ้อนถึงต้องตัดขา โดยไม่ให้รายละเอียดเอกสารและแหล่งพิมพ์เอกสาร รวมทั้ง อ้างว่าการสัมผัสยาฆ่าหญ้า ทำให้เกิดโรคที่รักษาไม่ได้ เช่น โรคพาร์กินสันและการทำลายเซลล์สมอง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ให้ความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยอ้างอิงจากเอกสารวิชาการของสำนักงานความปลอดภัยทางเคมี ของกรมสุขภาพ เมืองแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ว่า พาราควอต เป็นยากำจัดวัชพืช โดยวิธีการยับยั้งการสังเคราะห์ด้วยแสง ทำให้เกิดสุเปอร์ออกไซด์ไปทำอันตรายแผ่นเยื่อต่างๆของพืชโดยกระบวนการเพอร์ออกซิไดซ์ไขมัน การเป็นพิษต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นแบบเดียวกับในพืช คือ เมื่อได้รับสารพิษเข้าทางเดินอาหารหรือทางหายใจจะเกิดภาวะพิษทางระบบการหายใจ ไตและตับ การได้รับพิษทางผิวหนังพบน้อยมาก รายงานศักยภาพพิษต่อระบบประสาทที่ทำให้เป็นโรคพาร์กินสันในคนก็พบน้อยมาก อีกทั้งยังไม่สามารถระบุสาเหตุว่าเกิดจากสาพราควอต และที่กล่าวอ้างในบางรายงานว่าเกิดขึ้นก็ไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ รายงานผลวิจัยยาฆ่าวัชพืช 2 ตัว คือ ไกลโฟเสตและพาราควอต ในประเทศไทย จากกลุ่มนักวิชาการ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุถึงการตรวจพบพาราควอตในซีรั่มของมารดาและสายสะดือของทารก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ได้แสดงความคิดเห็นว่า ถ้าได้ศึกษาเพิ่มด้านสนเทศพันธุกรรมจากเลือดด้วยโดยวิธี Next Generation Sequencing ด้วย อาจได้ข้อมูลดีเอ็นเอของผู้ที่สัมผัสพาราควอต ไม่ว่าจะขณะทำงานพ่นสาร หรือจากสัมผัสสารที่ปนเปื้อนสิ่งต่างๆใกล้ตัว หรือจากบริโภคน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนละอองพาราควอตที่พ่นขณะทำงาน แต่ไม่น่าได้รับจากสัมผัสดิน เพราะโดยส่วนตัวเชื่อว่าในดินไม่มีฤทธิ์ของพาราควอตให้สัมผัส ส่วนเด็กแรกคลอดได้พาราควอตจากเลือดของแม่ เพราะเด็กอยู่ในครรภ์จนคลอด การศึกษานี้ ถ้าได้ศึกษาดีเอ็นเอด้วย ก็อาจโชคดีได้พบความผิดปรกติจำเพาะที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของสายดีเอ็นเอ ก็จะได้ตัวกำหนดชีวภาพระบุการสัมผัสสารพิษของหญิงมีครรภ์และของทารกแม้ก่อนเกิดเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าในรายงานไม่มีข้อมูลว่า แม่และลูกมีความผิดปรกติจากพิษพาราควอตหรือไม่อย่างไร เพราะหญิงมีครรภ์ที่นำมาศึกษาถ้าได้รับพาราควอตที่เป็นสารพิษร้ายแรง น่าจะมีอาการหรือลักษณะเวชกรรมพิษพาราควอตบ้าง ซึ่งในรายงานนี้บอกยากว่าได้รับเมื่อไร ถึงแม้ว่าพบปริมาณพาราควอตในเลือดตอนคลอดน้อยมาก จนไม่มีอาการ ถ้าได้สัมผัสปริมาณมากน่าจะมีอาการป่วยหรือเสียชีวิต
จากข้อมูลเท่าที่ผู้เขียนทราบจวบปัจจุบัน ยังไม่เคยปรากฏว่าการใช้พาราควอตฆ่าหญ้าเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ รายที่มีอาการและเสียชีวิตจากได้รับพาราควอตปริมาณมากเป็นรายที่ดื่มฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม หรือดื่มกินโดยไม่ตั้งใจเช่นในเด็กที่นึกว่าเป็นสิ่งที่ดื่มกินได้
พาราควอต เป็นสารฤทธิ์ทำอันตรายเฉพาะที่สูงมาก ถ้าดื่มก็จะทำอันตรายช่องปากและลำคอรุนแรง การเข้าทางหายใจก็เกิดยาก เพราะละอองสารเหลวจากการพ่นจะมีขนาดใหญ่ จะทำให้เปรอะเปื้อนตามร่างกายมากกว่าหายใจเข้าไปในทางหายใจ จึงไม่น่าจะมีใครสามารถหายใจพาราควอตได้ การสัมผัสทางผิวหนังก็เช่นกันจะเกิดการอักเสบรุนแรงเกิดแผลสด แต่ไม่น่าจะได้รับพาราควอตปริมาณมากจนเสียชีวิต การเดินลุยน้ำที่มีการปนเปื้อนจากการพ่นพาราควอตกำจัดวัชพืช ก็ไม่น่าจะได้สัมผัสพาราควอต เพราะพาราควอตที่ลงสู่ดิน จะถูกกำจัดหมดไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งหมดนี้ ได้นำข้อเท็จจริงจากรายงานวิชาการต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจพันธุกรรมก่อนสมภพ ของพุทธชินราชเวชสาร การเก็บของเหลวเพื่อชันสูตร ของธรรมศาสตร์เวชสาร A case of paraquat poisoning with recovery ของสารศิริราช และ IARC Monograph Volume 112 evaluation of five organophosphate insecticides and herbicides ขององค์การอนามัยโลก และการประเมินพิษวิทยาสารพาราควอตจากรมสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพาราควอตชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพื่อตอกย้ำว่า การใช้พาราควอตทางกสิกรรมไม่มีอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ควรยกเลิกใช้สาร พาราควอต ในกสิกรรมของไทยในที่สุด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม มูลนิธิวิทยาศาสตร์การเกษตร โทรศัพท์ 02-042-0904 โทรสาร 02-042-1010
ลักษณะการฉีดยากำจัดวัชพืช หรือ ยาฆ่าหญ้าของเกษตรกร จะเป็นการฉีดต่ำ เหนือดิน ละอองน้ำเม็ดใหญ่ เพื่อกำจัดวัชพืชให้ได้ประสิทธิผลและประหยัดที่สุด ทั้งนี้ ภาพที่ใช้โดยทั่วไป มักจะใช้ภาพประกอบบทความที่ผิด เป็นการฉีดแนวสูง เป็นละอองฝอย ซึ่งจะเป็นภาพของการฉีดยาฆ่าแมลงศัตรูพืช